ผบ.ทร. เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกองทัพเรือ ประจำปี 2565

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 970 ครั้ง

วันนี้ (27 ต.ค.65) เวลา 14.00 น. พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทานกองทัพเรือ ประจำปี 2565 ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้กราบบังคมทูล ขอพระราชทานเพื่อไปถวายยังวัดหลวง นอกจากวัดสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง หรือจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือองคมนตรี หรือผู้ที่ทรงเห็นสมควรเป็นผู้แทนพระองค์ไปถวาย จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคลากรที่สมควร รับพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายได้ โดยกฐินพระราชทานกองทัพเรือประจำปี 2565 ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร มียอดบริจาคทั้งสิ้น 4,126,000.63 บาท

กฐินพระราชทานกองทัพเรือถือเป็นนโยบายที่กองทัพเรือจะขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวาย ณ พระอารามหลวงที่ตั้งอยู่ใกล้กองทัพเรือทุกปี และได้ดำเนินการตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ในปี 2565 นี้ กองทัพเรือได้ขอพระราชทานผ้าพระกฐินทอดถวาย ณ วัดเครือวัลย์วรวิหาร เพื่อน้อมนำไปถวายพระสงฆ์ จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส อานิสงส์ของการร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทานมีดังนี้

1. เป็นการสงเคราะห์พระภิกษุที่จำพรรษาครบไตรมาสให้ได้รับอานิสงส์ตามพระพุทธบัญญัติ

2. เป็นการเทิดทูนพระพุทธบัญญัติเรื่องกฐินให้คงอยู่สืบไป นับได้ว่าบูชาพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติบูชาส่วนหนึ่ง

3. สืบต่อประเพณีกฐินทานมิให้เสื่อมสลายไปจากวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย ซึ่งบรรพบุรุษนำสืบต่อกันมามิขาดสาย

4. ลักษณะการทอดกฐินเป็นการถวายทานโดยมิเจาะจงบุคคลใดโดยเฉพาะ แต่ถวายแก่หมู่สงฆ์เป็นส่วนรวมจึงเข้าลักษณะเป็น “สังฆทาน” ที่พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่ามีผลานิสงส์มาก

5. การร่วมบำเพ็ญบำเพ็ญกุศลกฐินทานเป็น กาลทาน คือเป็นทานที่ถวายได้ภายในเวลาที่มีพระพุทธานุญาตกำหนดจึงมีอานิสงส์เป็นพิเศษ

6. ในการทอดกฐิน ส่วนใหญ่เป็นการร่วมมือร่วมใจกันระหว่างคนจำนวนมาก เพื่อสร้างความดีงาม จึงเป็นการเสริมสร้างพลังสามัคคีขึ้นในสังคมซึ่งเป็นผลให้เกิดความเจริญก้าวหน้าได้ทางหนึ่ง

วัดเครือวัลย์วรวิหาร สร้างขึ้นเมื่อปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด มีข้อความกล่าวถึงวัดนี้ ในหนังสือ ตำนานพระอารามหลวงและทำเนียบสมณศักดิ์ ซึ่งพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกรเรียบเรียงขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า “วัดเครือวัลย์วรวิหาร อยู่ในคลองมอญฝั่งใต้ เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) สร้างในรัชกาลที่ 3 แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระราชทานนามว่า วัดเครือวัลย์วรวิหาร และวัดนี้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย แล้วเจ้าพระยาภูธราภัย (นุช บุณยรัตพันธุ์) ปฏิสังขรณ์ต่อมาถึงรัชกาลที่ 5 ทรงปฏิสังขรณ์ด้วย หลักฐานเกี่ยวกับผู้สร้างวัดเครือวัลย์และปีที่สร้างยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่าขณะที่สร้างนั้นเจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุณยรัตพันธุ์) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว และเจ้าจอมเครือวัลย์ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ว่า ในคลองมอญ วัด 1 เจ้าจอมเครือวัลย์ บุตรีเจ้าพระยาอภัยภูธรสร้างใหม่การยังไม่แล้วก็ถึงแก่กรรมเสีย จึงโปรดให้ทำวัดนั้นต่อไปแล้วพระราชทานชื่อ วัดเครือวัลย์วรวิหาร จึงกล่าวได้ว่าชื่อของวัดเครือวัลย์มาจากชื่อของเจ้าจอมเครือวัลย์ ซึ่งเป็นบุคคลในสกุลบุณยรัตพันธุ์ และเป็นวัดของสกุลบุณยรัตพันธุ์ วัดเครือวัลย์วรวหาร ถือเป็นวัดประจำตระกูล บุณยรัตพันธุ์ ปัจจุบันมี พระพรหมวิสุทธาจารย์ (มนตรี คณิสฺสโร) เป็นเจ้าอาวาส

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 970 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน