มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 538 ครั้ง
ดีแทค ส่งทีมวิศวกรโครงข่ายลงพื้นที่น้ำท่วมต่อเนื่อง หลังปี 65 สถานการณ์น้ำยังอ่วมไม่น้อยกว่าปี 54 ชาวบ้านเดือดร้อนหลายจังหวัด ลุยตรวจสอบสถานีฐานและประเมินความเสี่ยงของระดับน้ำที่อาจมีผลกระทบต่ออุปกรณ์สื่อสาร หวังสัญญาณให้บริการมือถือต่อเนื่องบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติทั้งภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ล่าสุดเตรียมพร้อมภาคใต้รับมือแนวโน้มน้ำท่วมฉับพลันหลังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติเตือนเฝ้าระวัง
สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ยังอยู่ในภาวะวิกฤต บางแห่งน้ำท่วมสูงกว่า 2 เมตร ทำให้ยากต่อการดูแลรักษาสถานีฐาน บางพื้นที่ต้องพายเรือเข้าไปยังสถานีฐาน ชัยยศ สิทธิราช ฝ่ายปฏิบัติการโครงข่ายดีแทค กล่าวว่า การดูแลรักษาสถานีฐานให้ใช้งานได้ปกตินับเป็นอีกหนึ่งความ “ท้าทายทางวิศวกรรม” ไม่มีสูตรสำเร็จและต้องอาศัยประสบการณ์ของคนหน้างานในการแก้ไขปัญหา นอกจากน้ำท่วมจะมีอันตรายต่อการปฏิบัติการไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมสูง ไฟฟ้าลัดวงจร ไฟรั่ว ที่สำคัญคือ “สัตว์” ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อาจทำให้สถานีฐานไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะสัตว์ที่มีอันตรายเพราะหนีน้ำท่วมเข้าไปทำรังในตู้ควบคุม
“ที่ผ่านมาเจอทั้งงูเห่า และงูเขียวหางไหม้ซึ่งเป็นสัตว์มีพิษและเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน พอน้ำท่วมงูก็อาจจะหนีน้ำไปอาศัยตามเสาและตู้อุปกรณ์ของสถานีฐาน ส่วนสถานีฐานบางแห่งตั้งอยู่ในป่า ต้องนั่งเรือลุยน้ำท่วมเข้าไปถึง 1 กิโลเมตร บางครั้งเรือต้องผ่านดงกล้วยหรือพื้นที่รกชัฏ เราต้องเคาะเสียงดังนำทางเสียก่อน เพื่อให้งู ตะขาบ หรือสัตว์เลื้อยคลานสารพัดที่มีอันตรายหนีไป และไม่ตกลงมาบนเรือที่แล่นเข้าไปที่สถานีฐานนั้นๆ” ชัยยศ กล่าว
การออกปฏิบัติการในพื้นที่น้ำท่วมของทีมดีแทคเพื่อดูแลสัญญาณมือถือ ต้องเผชิญกับอันตรายรอบตัว ความท้าทาย และสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ดังนั้น ในการทำงานก็จะต้องปฏิบัติตามกฎบริษัทว่าด้วยอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (HSSE) โดยจะต้องใส่อุปกรณ์ป้องกัน หมวกนิรภัย เสื้อสะท้อนแสง ในกรณีของน้ำท่วมก็จะมีไม้วัดไฟรั่วเพิ่มเติมเข้ามา รวมถึงเสื้อชูชีพ และชุดเอี๊ยมกันน้ำ ทุกอย่างต้องรัดกุมเพราะถ้าพลาดอาจหมายถึงความปลอดภัยของชีวิต
ทั้งนี้ หลายพันครัวเรือนที่เผชิญกับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมที่ยาวนานนับเดือน การสื่อสารยิ่งมีความสำคัญยิ่งต่อทุกชีวิตในการรับมือกับสถานการณ์ที่เผชิญอยู่ โดยวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ยิ่งทำให้ทีมวิศวกรของดีแทคต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพื่อให้สถานการณ์ของผู้ใช้งานไม่เลวร้ายลงไปกว่านี้
กนกพร ทองประเสริฐ ชาวบ้านในชุมชนเพนียดคล้องช้าง จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากวิกฤตภัยน้ำท่วมมาเกือบ 2 เดือน กล่าวว่า แม้ชุมชนที่เธออยู่อาศัยจะเผชิญกับภัยน้ำท่วมอยู่ทุกปี แต่ในปีนี้ถือเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงมากเทียบเท่ากับปี 2554 โดยมีระดับน้ำท่วมสูงราว 2 เมตรหรือมิดหลังคาบ้านชั้น 1 ขณะที่ช่วงเวลาของภัยพิบัตินั้นนานขึ้นนับเดือน จากปกติไม่กี่สัปดาห์น้ำก็ลดระดับลงแล้ว แต่ช่วง 2 ปีมานี้ สถานการณ์เข้าขั้นวิกฤตน้ำท่วมสูงขึ้นและนานขึ้น
ความเสี่ยงจากน้ำท่วมกับภารกิจดูแลสถานีฐาน
กิตติพงษ์ กิจสนาโยธิน หัวหน้าสายงานปฏิบัติการโครงข่ายดีแทค ฉายภาพการทำงานของทีมเพื่อดูแลระบบสื่อสาร ว่า “สถานีฐาน” ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของการให้บริการสัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ต ในภาวะปกติ จะมีการดูแลรักษาสถานีฐานปีละ 2 ครั้ง หรือที่เรียกว่า Routine Preventive Maintenance: RPM ซึ่งจะมีการตรวจเช็คเครื่องมือและอุปกรณ์ภายในสถานีฐานว่าการทำงานเป็นปกติ และทำความสะอาดพื้นที่บริเวณโดยรอบให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ป้องกันการบุกรุกจากทั้งมิจฉาชีพและสัตว์ร้าย
ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น ทางทีมวิศวกรจะมอนิเตอร์อยู่ตลอดและมีทีมงานประจำในพื้นที่ เมื่อได้ข้อมูลแน่นอนแล้วก็จะมีการลงพื้นที่สำรวจ อย่างในกรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ของไทยตอนนี้ ทีมวิศวกรจะเข้าตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงของระดับน้ำที่อาจมีผลกระทบต่อการทำงานของสถานีฐาน ดีแทคได้เข้าดูแลทุกพื้นที่ทั่วไทยที่เกิดน้ำท่วมทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง รวมทั้งภาคใต้ที่มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมฉับพลันซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้เตือนเฝ้าระวัง
ภาณุพงษ์ ปิยัสสพันธุ์ หัวหน้าทีมปฏิบัติการโครงข่ายภาคกลางและภาคตะวันออก ผู้ซึ่งดูแลสถานีฐานของดีแทค 19 จังหวัดในภูมิภาค อธิบายเสริมว่า พื้นที่ภาคกลางเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง แต่ปีนี้ ระดับน้ำค่อนข้างสูงเทียบเท่ากับเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554 อย่างในกรณีสถานีฐานที่ลงพื้นที่อยู่นี้ ตั้งอยู่ที่ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ห่างจากแม่น้ำน้อยเพียง 100 เมตร ซึ่งถือเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วม สถานีฐานดังกล่าวจึงมีการยกระดับความสูงของตำแหน่งที่ติดตั้งตู้ BTS และ MDB ขึ้นไปอีก เพื่อป้องกันความเสียหายของอุปกรณ์จากน้ำท่วม
“ไฟฟ้า” ก็ถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะทำให้สถานีฐานทำงานได้ ซึ่งโดยปกติจะซัพพลายมาจากการไฟฟ้าฯ โดยตรง แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่การไฟฟ้าฯ ตัดกระแสไฟ ทางทีมก็จะนำเครื่องปั่นไฟลงไปสำรองแทน หรือหากสายไฟเบอร์ออพติกขาด ก็จะต้องมีการซ่อมแซม
“ในภาวะวิกฤตอย่างน้ำท่วมที่ยาวนานนับเดือนเช่นนี้ สัญญาณมือถือและอินเทอร์เน็ตยิ่งมีความสำคัญมาก ผู้ประสบภัยอาจเจอปัญหาได้ทุกเมื่อ เช่น อุบัติเหตุ สุขภาพ หรือถูกสัตว์มีพิษทำร้าย โดยเฉพาะสัตว์อันตรายที่มักหนีน้ำท่วมมาขึ้นบ้านเรือน ดังนั้น จึงต้องดูแลรักษาและซ่อมแซมให้สถานีฐานให้พร้อมเสมอ โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกันสถานีฐานของดีแทคให้บริการได้เหมือนปกติ เพราะมือถือจะต้องใช้ได้ทุกเวลาไม่ว่าจะแจ้งเหตุร้ายหรือขอความช่วยเหลือ” ภาณุพงษ์ กล่าวในที่สุด
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 538 ครั้ง