มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 366 ครั้ง
“อลงกรณ์” เผย “กรกอ.” มีมติเห็นชอบโครงการ “เพชรบุรีฟู้ดวัลย์” เขตอุตสาหกรรมเกษตรใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมสนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหารภาคกลางตอนล่างของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สภาอุตสาหกรรมภาคกลางเตรียมเชิญ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสอท. ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลย์ 24 พ.ย.นี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) เป็นประธานการประชุมครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบประชุมทางไกล Zoom Meeting วันนี้ (7 พ.ย.65) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายสุรชัย โสตถีวรกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง นายสาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก ทันตแพทย์สุพจน์ หวังปรีดาเลิศกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคเหนือ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นายนิติธร กฤตสิน กรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี นางสาวพรชาตา บุสสุวัณโณ ผู้อำนวยการส่วนแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร ทำหน้าที่เลขานุการฯ การประชุม
นายอลงกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า วันนี้ที่ประชุม “กรกอ.” ในวาระเพื่อพิจารณาได้มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบโครงการ เพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ (Phetchaburi Food Valley) นำเสนอโดยนายมานพ โตการค้า ผู้บริหารโครงการตั้งอยู่ในอำเภอแก่งกระจาน และอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งทางด้านคมนาคม การสื่อสาร ไฟฟ้า และน้ำ โดยพื้นที่ดังกล่าว เคยเป็นโครงการสร้างเมืองอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบริการ ปัจจุบันได้ปรับพื้นที่เป็นโครงการอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ ที่ได้มีการจัดสรรพื้นที่ตามศักยภาพ และเป็นไปตามกฎหมายผังเมือง ประกอบด้วย
1. ศูนย์แสดงนวัตกรรมการเกษตร 70 ไร่ หน้าพื้นที่โครงการ จะเป็นศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมการเกษตร และการเจรจาธุรกิจ ห้องประชุม และศูนย์วิจัยเทคโนโลยี PlatForm การเกษตร ก่อสร้างคืบหน้า 50%
2. แปลงปลูกข้าวโพด และหญ้าเนเปียร์ 12,000 ไร่ ในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน ปัจจุบันปลูกข้าวโพดและหญ้าเนเปียร์แล้ว 5,000 ไร่ เพื่อผลิตอาหารสัตว์ที่มีราคาถูก
3. คอกโคกลาง 1,600 ไร่ ในพื้นที่อำเภอแก่งกระจาน เป็นคอกมาตรฐานที่มีการใช้ร่วมกัน มีน้ำสะอาด อาหารราคาถูก และการดูแลรักษาได้มาตรฐานลดต้นทุนการผลิต สามารถผลิตโคส่งออกได้ปีละ 100,000 – 150,000 ตัว โดยจังหวัดเพชรบุรีเป็นจังหวัดที่เลี้ยงโคส่งขายปีละกว่า140,000 – 150,000 ตัว
4. ฟาร์มกุ้งระบบปิด 2,000 ไร่ ในพื้นที่ตำบลท่าไม้รวกและตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง ซึ่งได้รับอนุญาตจากประมงแล้ว โดยจะมีการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการช่วยให้สามารถเพิ่มผลิตภาพการผลิตกุ้งอย่างมีคุณภาพ
5. โรงงานแปรรูป 1,000 ไร่ ในพื้นที่ตำบลไม้ลวก อำเภอท่ายาง เป็นโซนพื้นที่รองรับการตั้งโรงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตร ซึ่งมีความพร้อมทั้งถนนคอนกรีต น้ำประปา แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ไฟฟ้าแรงสูง รวมถึง Internet
6. โซล่าฟาร์ม 4,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมสำหรับผลิตโซล่าฟาร์ม มีสายส่งขนาด 115KV ผ่าน ปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว 900 ไร่ โดยบริษัทด้านโซล่าฟาร์มชั้นนำของประเทศ
ในการนี้ ประธานฯ ได้ให้ผู้บริหารโครงการพิจารณาจัดทำฮาลาลฟู้ดวัลเลยฺ (Halal Food Valley) ในพื้นที่โครงการด้วย จัดว่าเป็นเขตอุตสาหกรรมเกษตรใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้โครงการ เพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร”ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเรือธง (Flagship Project) ของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในกลุ่มจังหวัด “เพชรสมุทรคีรี” (เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงครามและสมุทรสาคร) โดยมีศูนย์ AIC เพชรบุรีคือมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ให้การสนับสนุน และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก (Western Economic Corridor: WEC) ตามนโยบายรัฐบาลนับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการบริหารงานใหม่แบบใหม่ นำไปสู่เกษตรมูลค่าสูง ด้วยเทคโนโลยีของไทย ครอบคลุมทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์โดยใช้เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรมเมดอินไทยแลนด์เป็นฐานสำคัญ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบสนับสนุนโครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมภาคกลางตอนล่างของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่เกื้อหนุนโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลเลย์ด้วย
โดยนายสุรชัย โสตถีวรกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง และประธานกรกอ.ภาคกลาง เตรียมเชิญ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการเพชรบุรีฟู้ดวัลย์ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระดับภาคได้แก่
1. คณะอนุกรรมการ (กรกอ.ภาคเหนือ) ได้จัดทำแนวทางการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารภาคเหนือ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) โดยเพิ่มเติมพืชที่มีศักยภาพที่จะผลักดัน เข้าสู่โครงการเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 5 ล้านไร่ คือ ข้าวโพด ชา กาแฟ กล้วยหอมทอง และพืชสมุนไพร นอกเหนือจาก อ้อย และข้าวโพดหวานที่ดำเนินการอยู่แล้ว
2. คณะอนุกรรมการ (กรกอ.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ได้เข้าพบประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (นายสมยศ ชาญจึงถาวร) ซึ่งประธานฯ พร้อมให้การสนับสนุน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานเชิงประจักษ์ตามแผนความร่วมมือระหว่าง กษ. และ ส.อ.ท. และขอให้มีการดำเนินการตามโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำสู่ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ในระยะที่ 2 ต่อไป และรับทราบผลการจัดทำแผนขับเคลื่อนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรที่สำคัญในระดับพื้นที่ (5 กลุ่มจังหวัด) โดยมีสินค้าสำคัญ คือ มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา และโคเนื้อ ซึ่งจะนำมาเข้าเวทีเพื่อขับเคลื่อนและจัดทำแผนร่วมกันว่า สินค้าดังกล่าวมีความโดดเด่นเพียงใด โดยประธานฯ ได้มอบหมายให้ทุกคณะอนุกรรมการฯ ในแต่ละภาค เชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (NABC) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รวมถึงเชื่อมโยงกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ในเรื่อง รายการนวัตกรรม (Innovation Catalog) ที่มีเกือบ800นวัตกรรมโดยให้ฝ่ายเลขาฯ ภาค ประสานศูนย์ AIC ในการเข้าร่วมประชุม เพื่อนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาในโครงการต่างๆ
3. คณะอนุกรรมการฯ (ภาคกลาง) รายงานความก้าวหน้าโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำและการเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาสวยงามในการส่งออกต่างประเทศ (Aqua Feed & Ornamental Freshwater Fish Industry : AFOF) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโรค Covid-19 ในเขตภาคกลางตอนล่าง 1 ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ AIC สภาอุตสาหกรรมฯ ระดับภาค โดยได้จัดทำข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 135 ล้านบาท
โดยประธานฯ กล่าวว่า โครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนในครั้งนี้เป็นวาระเพื่อทราบ จึงมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สวก. สภาอุตสาหกรรมในส่วนของผู้ประกอบการ รวมถึงกรมประมง กรมปศุสัตว์ ได้รับทราบ พร้อมทั้งให้ฝ่ายเลขานุการฯ ประสานผู้แทนและผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงฝ่ายเลขาฯ ของคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ในการนำประเด็นดังกล่าวเข้าที่ประชุม พร้อมทั้งนำเสนอต่อที่ประชุมในวาระเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
4. คณะอนุกรรมการฯ (ภาคตะวันออก) รายงานว่า ได้มีการจัดประชุม เพื่อจัดทำแผน BCG ภาคตะวันออกร่วมกัน ปัจจุบันเกิดความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนงานเป็นอย่างมาก
5. คณะอนุกรรมการฯ ภาคใต้ ได้มีการขับเคลื่อน Thailand Green Rubber โดยการประสานงานกับการยางแห่งประเทศไทย ใช้แนวทางตลาดนำการผลิต ซึ่งได้ประสานสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมและบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่สนใจรับซื้อผลผลิตทั้งน้ำยางและไม้ยาง
โดยประธานฯ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ทุกคณะจัดประชุมติดตามความก้าวหน้าทุก 2 เดือน และสรุปผลนำเสนอต่อที่ประชุม เนื่องจากเป็นการประสานความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน จึงต้องการให้ทุกหน่วยงานทำงานเชิงโครงสร้างระบบให้มากที่สุด เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว
การประชุมในครั้งนี้ ประธานฯ ได้กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของ ส.อ.ท. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการทำงานที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการประชุมเอเปค (APEC) ในเดือนนี้ รวมทั้งการประชุมขยายความร่วมมือระหว่างซาอุดิอาระเบียกับไทยในวาระที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนซาอุดิอาระเบีย พร้อมคณะผู้แทนภาคเอกชนเดินทางมาเยือนไทยเพื่อขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนระหว่าง 2 ประเทศ และเป็นโอกาสทองของไทยในการเร่งยกระดับภาคการเกษตรสู่เกษตรมูลค่าสูงโดยเฉพาะการสร้างฐานใหม่ในการแปรรูปใน 18 กลุ่มจังหวัดเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรครอบคลุม 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ซึ่งบีโอไอ.ได้กำหนด 9 มาตรการใหม่ในการส่งเสริมการลงทุนสนับสนุนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคจะทำให้ประเทศไทยมีฐานเศรษฐกิจใหม่ 18 ฐานช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรสูงขึ้นและขับเคลื่อนประเทศไทยซึ่งเป็นครัวโลกสู่มหาอำนาจทางอาหารได้ในอนาคตอันใกล้ในฐานะประเทศส่งออกอาหารอันดับท็อปเทนของโลก
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 366 ครั้ง