มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 568 ครั้ง
วันนี้ (14 พ.ย.65) เวลา 15.00 น. พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม และคณะเดินทางไปตรวจความพร้อมของ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งจะใช้เป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) อย่างเป็นทางการแก่ ผู้นำเขตเศรษฐกิจ ที่เข้าร่วมประชุม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปก 2022 (APEC 2022) ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 โดยมี พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะ ได้รับฟังการบรรยายสรุปการเตรียมความพร้อม ณ ห้องวิไชยประสิทธิ์ 3 พร้อมทั้งตรวจความเรียบร้อยของพื้นที่จัดงาน ก่อนรับชมการสาธิตการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ การส่งกลับสายแพทย์ทางบกและทางน้ำ การปฏิบัติเมื่อเกิดอัคคีภัยภายในหอประชุมกองทัพเรือ และการเคลื่อนย้ายฉุกเฉินทางน้ำ
ในระหว่างวันที่ 17 ถึง 19 พฤศจิกายน นี้ ประเทศไทย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) หรือ เอเปก 2022 (APEC 2022) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) อย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ กองทัพเรือ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการจัดเตรียมหอประชุมกองทัพเรือ สำหรับงานเลี้ยงอาหารค่ำรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุม รวมถึงการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ ทั้งทางบกและทางน้ำ ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและคู่สมรสร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ (Gala Dinner) ที่หอประชุมกองทัพเรือ ในวันที่ 17 พฤศจิกายน การรักษาความปลอดภัยทางน้ำในพื้นที่ทางน้ำบริเวณโรงแรมที่พักผู้นำเขตเศรษฐกิจที่อยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา หรือพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติม รวมทั้งจัดทำแผนการเคลื่อนย้ายบุคคลสำคัญทางน้ำและแผนการส่งกลับสายแพทย์ทางน้ำกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน สนับสนุนท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา สำหรับให้เครื่องบินพิเศษหรือเครื่องบินสำรองของผู้นำเขตเศรษฐกิจจอด ตามแต่จะได้รับการประสาน การจัดแพทย์ พยาบาล รถพยาบาล ห้องฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขในการปฏิบัติการด้านการแพทย์และการส่งกลับสายการแพทย์
รวมทั้งจัดกำลังพล ชุดปฏิบัติการ ยานพาหนะ ยุทโธปกรณ์ สนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่ได้รับการประสาน เพื่อสนับสนุนการจัดประชุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความปลอดภัยสูงสุด โดยมี ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ทำหน้าที่เป็นหน่วยควบคุม อำนวยการ สั่งการ และติดตามการปฏิบัติงานในการรักษาความปลอดภัยและการจราจรในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ และพื้นที่ที่ได้รับมอบหมายในภาพ รวมทั้งทางบกและทางน้ำ ของหน่วยต่าง ๆ ที่กองทัพเรือ ได้จัดตั้งขึ้น ประกอบด้วย หน่วยรักษาความปลอดภัยทางบก หน่วยเรือรักษาความปลอดภัยทางน้ำ กองกำลังปฏิบัติการพิเศษกองทัพเรือ หน่วยปฏิบัติการลำเลียงขนส่ง หน่วยปฏิบัติการทางการแพทย์ รวมถึงหน่วยอื่น ๆ ที่กองทัพเรือมอบหมาย
สำหรับความเป็นมาของการจัดสร้างหอประชุมกองทัพเรือ เกิดจากการประชุมเอเปก โดยในปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้รับเกียรติ ให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก 2003 เพื่อเป็นการเตรียมการสำหรับการประชุม รัฐบาลในขณะนั้น จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 ให้กองทัพเรือจัดเตรียมสถานที่สำหรับการจัดการจัดเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ จำนวน 21 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม ในพื้นที่ของกรมสารวัตรทหารเรือ ซึ่งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณตรงข้ามกับพระบรมมหาราชวัง พร้อมกันนี้ยังได้สร้างอาคารราชนาวิกสภาหลังใหม่เชื่อมต่อกับอาคารราชนาวิกสภาหลังเก่า เพื่อใช้เป็นสถานที่ชมการแสดงขบวนพยุหยาตราชลมารค และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้วได้มอบอาคาร และสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้กองทัพเรือดำเนินการในเชิงพาณิชย์ โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไปได้ใช้เป็นสถานที่จัดงานในโอกาสต่าง ๆ ได้ ซึ่งที่ผ่านมานอกจากการประชุมในครั้งนั้น หอประชุมกองทัพเรือ ได้เคยเป็นสถานที่จัดงานสำคัญต่าง ๆ อาทิ
– งานชุมนุมพบปะสังสรรค์ คณะผู้บริหารจาก องค์การ ผู้บริหารระดับสูงของโลก (WPO) ในปี พ.ศ.2548 การประชุมสุดยอดผู้นำพระพุทธศาสนาแห่งโลก ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2548
– งานเลี้ยงต้อนรับสาวงามที่เข้าร่วมการประกวดนางงามจักรวาล (Miss Universe) 2005 พ.ศ.2548
– เป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระราชกรณียกิจ 60 ปี เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พ.ศ.2549
– งานประชุมสมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2549
– งานสโมสรสันนิบาต พ.ศ.2551
ทั้งนี้ อาคารหอประชุมกองทัพเรือ มีแนวความคิดในการวางผังบริเวณอาคาร คือ การเปิดพื้นที่โล่งบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อส่งเสริมทัศนียภาพขององค์พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และสร้างความสง่างามแก่พื้นที่ตั้ง รวมทั้งตัว อาคารหอประชุมกองทัพเรือ ได้ออกแบบเพื่อวัตถุประสงค์หลัก สองประการ คือ ใช้ในภารกิจหลักของกองทัพเรือ สำหรับการจัดประชุมรูปแบบต่าง ๆ ขณะเดียวกันที่สำคัญให้มีความพร้อมและความสมบูรณ์ครบถ้วน เพื่อรองรับการจัดงานเลี้ยง และรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ในการประชุมเอเปก 2003 รวมถึงการประชุมเอเปก 2022 ในครั้งนี้
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 568 ครั้ง