มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 726 ครั้ง
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) นับเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้รับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากชาวตะวันตกอย่างมากมาย ทั้งนี้สืบเนื่องจากประสบการณ์ที่พระองค์ได้เสด็จประพาสต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงพระองค์ทรงโปรดให้พระราชโอรสและข้าราชการจำนวนมากไปศึกษาต่อศาสตร์ด้านต่าง ๆ ในหลายประเทศทางยุโรป จึงก่อให้เกิดพระบรมราโชบายของการพัฒนาประเทศไทยในหลายด้าน เช่น ด้านการทหาร ด้านกฎหมาย และด้านงานช่างซึ่งต่อมาพระองค์ได้มีพระราชดำริเริ่มกิจการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาตามศาสตร์ต่าง ๆ ข้างต้น และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดกิจการดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ต่อมาเมื่อ 13 กรกฎาคม พุทธศักราช 2436 (รัตนโกสินทร์ศก 112) ประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งหมู่เรือรบเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา จนเกิดการสู้รบกับฝ่ายไทย ซึ่งประจำอยู่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า ประเทศไทยเสียเปรียบประเทศฝรั่งเศสทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และความชำนาญด้านกลศึกการรบรวมถึงบุคลากรที่ควบคุมเรือรบของฝ่ายไทย ล้วนเป็นชาวต่างประเทศที่ทางราชการจ้างมารับผิดชอบตำแหน่งต่าง ๆ บนเรือ ซึ่งอ้างว่า “การจ้างไม่ได้รวมถึงหน้าที่ในการป้องกันการรุกรานจากข้าศึกด้วยแต่อย่างใด” ประเทศไทยจึงต้องยอมเสียค่าปฏิกรรมสงคราม และเสียดินแดนบางส่วนแลกเปลี่ยนตามข้อเรียกร้องของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งประวัติศาสตร์ได้จารึกเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “วิกฤตการณ์ ร.ศ.112”
จากเหตุการณ์วิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ข้างต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงโปรดให้พระราชโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาวิชาการยังประเทศอังกฤษ หนึ่งในพระองค์นั้นคือ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (เสด็จเตี่ย หรือเสด็จในกรมฯ) เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยศักดิ์เป็น พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ ไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ เนื่องจากพระองค์มีพระราชประสงค์ให้คนไทยมีความรู้ความสามารถในการทหารเรือ โดยไม่ต้องพึ่งพาชาวต่างชาติ และสามารถปกป้องประเทศได้ด้วยกองทัพเรือของตนเอง
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นพระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาโหมด ประสูติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2423 พระองค์ทรงรักการเป็นทหารเรือตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษา และเสด็จกลับสู่ประเทศไทย พระองค์ทรงวางรากฐานการทหารเรือของไทยตามแบบชาติตะวันตก เพื่อให้กองทัพเรือมีความเข้มแข็งและก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ รวมทั้งได้ขอพระราชทานพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนนายเรือ ตลอดจนกราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรือ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2449 กองทัพเรือจึงถือวันมหามงคลดังกล่าวเป็นวันกองทัพเรือมาจวบจนปัจจุบัน
พระกรุณาธิคุณของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงเมตตาแก่ทหารเรือยังมีอีกมากมายหลายคณานับ เช่น ทรงจัดทำโครงการสร้างกำลังทางเรือ ทรงปรับปรุงด้านการศึกษาของทหารเรือ ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคม “ราชนาวีสมาคมแห่งกรุงสยาม”
ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดซื้อ “เรือหลวงพระร่วง” จากประเทศอังกฤษ ตลอดจนทรงเป็นผู้บังคับบัญชานำเรือหลวงพระร่วงพร้อมด้วยนายทหารเรือ โดยได้นำเรือหลวงพระร่วงจากประเทศอังกฤษมาสู่ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติของราชนาวีไทยที่นายทหารเรือไทยสามารถเดินเรือทางทะเลได้ไกลเป็นอย่างมากในขณะนั้น
นอกจากนี้พระองค์ยังมีพระกรุณาธิคุณด้านดนตรีแก่กองทัพเรือ พระองค์ทรงพระนิพนธ์เพลงปลุกใจไว้ให้กองทัพเรือมากมาย อาทิ เพลง “เดินหน้า” เกิดจากการนำเอาเพลงสองเพลงมารวมกัน คือ เพลง “เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น” และ เพลง “เกิดมาทั้งที มันก็มีอยู่แต่ทุกข์ภัย” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาความสามารถของพระองค์ในการถ่ายทอดทำนองเพลงไทยเดิมมาเป็นท่วงทำนองสากล โดยไม่เสียเค้าทำนองของเพลงเดิม
ส่วนด้านเนื้อร้อง พระองค์ทรงพระนิพนธ์จากธรรมชาติของทหารเรือในการปฏิบัติราชการ นอกจากนั้นยังมีเพลง “ดอกประดู่” ซึ่งพระองค์ทรงพระนิพนธ์เพลงนี้จากประสบการณ์ในช่วงที่นำทหารเรือออกฝึกภาคทะเล มีเนื้อร้องขึ้นต้นว่า “ตายแต่ตัว ชื่อยังฟุ้ง ทั่วทั้งกรุงก็ไม่ลืมได้…ให้โลกทั้งหลายเขาลือว่าตัวเราคือทหารเรือไทย” โดยเพลงเหล่านี้ล้วนเป็นเพลงที่ร้องง่ายและจำง่าย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเพลงอมตะคู่กับกองทัพเรือมาตราบจนปัจจุบัน
กองทัพเรือของไทยมีรากหยั่งลงอย่างมั่นคง นำมาซึ่งการก่อกำเนิด และมีพัฒนาการสู่การเป็นกองทัพเรือที่เข้มแข็งมั่นคงในทุกวันนี้ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และด้วยพระกรุณาธิคุณของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ทรงมีต่อกองทัพเรือ พระองค์จึงได้รับการเคารพจากทหารเรือทุกชั้นยศอย่างจริงใจสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน และเหล่าทหารเรือทุกนายต่างยกย่องให้พระองค์เป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” ชั่วนิรันดร์
สำหรับการจัดงานวันกองทัพเรือ ในปีนี้ นอกจากครบรอบ 116 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงเรียนนายเรือพระราชวังเดิมกรุงธนบุรีเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2449 แล้ว ยังเป็นช่วงที่กองทัพเรือกำหนดจัดงาน 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่จะเวียนมาบรรจบในวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อกองทัพเรือเป็นเอนกอนันต์ โดยกองทัพเรือ ได้กำหนดจัดงานวันกองทัพเรือ ประจำปี 2565 ประกอบด้วย พิธีทำบุญประจำปี เพื่อความเป็นสิริมงคล ในช่วงเช้า ณ กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม และงานรับรองวันกองทัพเรือในช่วงค่ำ ณ หอประชุมกองทัพเรือ
กองทัพเรือได้ทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตยของชาติไทยตั้งแต่อดีตกาล ถึงแม้ว่าในปัจจุบันไม่มีศึกการรุกรานจากทางทะเล เพราะนานาประเทศล้วนหันมาทำสงครามทางด้านเศรษฐกิจแทน แต่ภารกิจของกองทัพเรือก็ไม่ได้หยุดนิ่ง โดยมีหน้าที่สำคัญในการดำรงรักษาความมั่นคงของชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รักษากฎหมายทางทะเล สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติต่าง ๆ ช่วยเหลือคุ้มครองเรือประมง ตลอดจนรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และอนุรักษ์รักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมทางชายฝั่งและในทะเล นอกจากนี้กองทัพเรือยังมีความเจริญก้าวหน้าเป็นลำดับมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน สืบทอดมาสู่ทหารเรือจากรุ่นสู่รุ่นที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการเสริมสร้างกำลังทหารเรือให้มีความแข็งแกร่ง มีขีดความสามารถในการป้องกันประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้คำมั่นว่าจะมุ่งเน้นให้กองทัพเรือมีศักยภาพในการปกป้องอธิปไตย มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคอยช่วยเหลือประชาชน เพื่อนำไปสู่การเป็น “กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่น และภาคภูมิใจตลอดไป”
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 726 ครั้ง