“อลงกรณ์” วอนพรรคการเมืองยุติแตกแยก-แบ่งขั้ว มุ่งแข่งนโยบายเลือกตั้งครั้งหน้า

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 892 ครั้ง

          “อลงกรณ์ เรียกร้องพรรคการเมืองยุติแตกแยกแบ่งขั้ว มุ่งแข่งนโยบายและผลงานในการเลือกตั้งครั้งหน้า ยืนยันประชาธิปัตย์ก้าวข้ามความขัดแย้งแล้วพร้อมสร้างการเมืองวิถีใหม่ เตือนหากการเมืองยังแตกแยกแบ่งขั้วประเทศจะวิกฤติไม่รู้จบ

          นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยวันนี้ภายหลังการสัมมนาหัวข้อ โอกาส ความหวัง การเมืองวิถีใหม่ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต วาระครบรอบ 70 ปีของ นสพ.สยามรัฐ โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองร่วมเสวนา

          โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า การเมืองวิถีใหม่คือการเมืองที่สร้างสรรค์ เป็นการเมืองที่เป็นความหวัง แข่งขันด้วยวิสัยทัศน์ นโยบายและผลงาน โปร่งใส สุจริตทุกระดับ ยึดอุดมการณ์ประชาธิปไตย ให้โอกาสคนทุกรุ่นที่มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถมาร่วมทำงาน ร่วมคิด ร่วมขับเคลื่อนนโยบายที่ทำได้จริง และอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อวันนี้และวันหน้าสามารถนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างจุดเปลี่ยนประเทศสู่อนาคตที่ดีกว่า

          “การเลือกตั้งครั้งหน้าควรแข่งขันด้วยวิสัยทัศน์ นโยบายและผลงานตามแนวทางการเมืองวิถีใหม่ โดยต้องก้าวข้ามความขัดแย้งแตกแยกแบ่งขั้วทางการเมืองแบบสุดโต่งที่ทำให้ประเทศติดหล่มจมปลักวนเวียนอยู่ในวงจรอุบาทว์มากว่า 20 ปี การเลือกตั้งต้องสร้างโอกาสและความหวังให้กับประชาชนและต้องเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตสะท้อนอำนาจของประชาชน”

          รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อไปว่า การเลือกตั้งในปีหน้าจะแข่งขันกันอย่างเข้มข้นรุนแรงมากกว่าในอดีตเต็มไปด้วยความขัดแย้งแบ่งขั้วและใช้ปัจจัยทุกอย่างเพื่อชนะการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำพาประเทศสู่วิกฤติไม่รู้จบ พรรคประชาธิปัตย์ยุคอุดมการณ์-ทันสมัย ได้ถอยออกจากวังวนของความขัดแย้งสุดโต่ง 2 ขั้ว มากว่า 3 ปีแล้ว เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ มุ่งหน้าทำงานแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนด้วยแนวทาง เศรษฐกิจเหนือการเมือง โดยเฉพาะในยามที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติซ้อนวิกฤติคือการแพร่ระบาดของโควิดและสงครามรัสเซีย-ยูเครน หากเกิดวิกฤติการเมืองซ้ำเติมประเทศอีก ประชาชนจะอยู่อย่างไร เราต้องช่วยกันถอนฟืนออกจากกองไฟ คู่ขัดแย้ง 2 ขั้ว ควรถอยคนละก้าวให้โอกาสประเทศและประชาชนบ้าง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วไม่เอาการเมืองแบบแบ่งขั้วสุดโต่งไม่เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งและเคารพความแตกต่างทางความคิดความเชื่อทางการเมืองยึดมั่นในระบบรัฐสภาภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 892 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน