มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 674 ครั้ง
กรมราชทัณฑ์ มีนโยบาย “7 ห้าม 3 ให้” ข้อปฏิบัติสำหรับพี่น้องประชาชนที่ได้พบปะการทำงานของผู้ต้องขังภายนอกเรือนจำ สร้างความปลอดภัยห่วงใยการทำงาน
วันนี้ (20 ธ.ค.65) นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตนได้กำหนดทิศทางการบริหารงานราชทัณฑ์ ภายใต้แนวทาง “6 เสาหลักสู่อนาคตราชทัณฑ์” ซึ่งได้เล็งเห็นการดำเนินงานนโยบายเสาหลักที่ 3 “การปรับปรุงระบบทัณฑปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักทัณฑวิทยา” เพื่อให้การดำเนินงานด้านทัณฑปฏิบัติเป็นไปตามหลักมาตรฐานสากลและช่วยลด ความเสี่ยงในการควบคุม ซึ่งเป็นมาตรการสำคัญตามหลักทัณฑวิทยาในการบริหารงานเรือนจำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กรมราชทัณฑ์ จึงได้มีนโยบาย “7 ห้าม 3 ให้ สร้างความปลอดภัย ห่วงใยการทำงาน” ให้เป็นนโยบายด้านการทำงานนอกเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ ทุกประเภทการทำงาน ซึ่งได้แก่ การจ่ายออกทำงานนอกเรือนจำ /การออกทำงานสาธารณะ / การนำผู้ต้องขังออกทำงานบำเพ็ญประโยชน์ / การนำผู้ต้องขังออกแสดงทักษะหรือความสามารถพิเศษทุกประเภทกรมราชทัณฑ์ จึงได้กำหนดข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชน ในการทำงานสาธารณะและงานนอกเรือนจำของผู้ต้องขัง ด้วยหลัก 7 ห้าม 3 ให้ ดังนี้
“7 อย่างต้องห้าม ได้แก่ 1.ห้ามให้สุราหรือของมึนเมา 2.ห้ามให้ยาเสพติด 3.ห้ามให้เงินตรา 4.ห้ามให้ใช้เครื่องมือสื่อสาร 5.ห้ามให้อาวุธหรือสิ่งของที่สามารถก่อเหตุร้าย 6.ห้ามใช้ยานพาหนะ 7.ห้ามพูดคุยในลักษณะแจ้งข่าวร้ายหรือสร้างความปั่นป่วนในการทำงาน และ 3 อย่างที่พี่น้องประชาชนจะสามารถให้ได้ คือ 1.ให้กำลังใจ 2.ให้โอกาส 3.ให้การยอมรับ”
นายอายุตม์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่กรมราชทัณฑ์ได้นำผู้ต้องขัง ออกทำงานสาธารณะ และงานนอกเรือนจำเพื่อประโยชน์ของสังคม โดยปฏิบัติตามมาตรฐานการควบคุม และตามมาตรฐานความปลอดภัยในการทำงานที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนนั้น เป็นการให้โอกาส สร้างความเชื่อมั่นทั้งผู้ต้องขัง และสังคม รวมถึงการให้การยอมรับ และเป็นการเตรียมความพร้อมในการคืนคนดีสู่สังคมต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 674 ครั้ง