“เฉลิมชัย” เดินหน้าพัฒนาประจวบคีรีขันธ์เป็น “มหานครสับปะรดของโลก” หลังไทยยืนหนึ่งแชมป์โลกส่งออกสับปะรด

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 438 ครั้ง

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นประธานเปิดงานและบรรยายในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 38 ของสหกรณ์ชาวไร่สับปะรดสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยมี นายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นายอำเภอสามร้อยยอด สหกรณ์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนราชการต่างๆ นายชาญชัย ธนะกมลประดิษฐ์ ประธานและคณะกรรมการอำนวยการสหกรณ์ และสมาชิก ให้การต้อนรับ

โดยนายอลงกรณ์ กล่าวบรรยายว่า สถานการณ์การเพาะปลูกและผลผลิตสับปะรดในปี 2565 มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 457,255 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 1.772 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี เพชรบุรี พิษณุโลกและระยอง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 3 ปีที่ผ่านมา ร้อยละ 0.39 ร้อยละ 2.68 และร้อยละ 2.27 ตามลำดับ ทางด้านราคาตั้งแต่ปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ราคาอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้เกษตรกรรายใหม่ขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ศักยภาพของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์สับปะรดกระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก ด้วยมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท ครองสัดส่วนตลาดโลก 32% ตามมาด้วยฟิลิปปินส์ 22% ซึ่งพื้นที่ปลูกสับปะรดมากที่สุด และมีโรงงานสับปะรดมากที่สุดคือประจวบคีรีขันธ์ จึงเป็นเสมือนมหานครสับปะรดของไทยและของโลก

โดยการบริหารจัดการสับปะรดเชิงโครงสร้างและระบบ และการกำหนดแผนและเป้าหมายการเป็นมหานครสับปะรดของโลก ภายใต้คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติที่มี รองนายกรัฐมนตรี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน ได้ปรับแผนเดิมเป็นแผนใหม่รับมือวิกฤติโควิด 19 เรียกว่าแผนพัฒนาสับปะรดปี 2563-2565 พร้อมกับจัดทำแผนพัฒนาสับปะรด 5 ปี (2566-2570) เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตการแปรรูปและการตลาด

สำหรับการขับเคลื่อนสำคัญในปีหน้าคือการจัดตั้ง “มหานครสับปะรด Pineapple Metropolice” ที่ประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่แหล่งผลิตหลักจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี และการยกร่างกฎหมายการพัฒนาผลไม้เศรษฐกิจ (สับปะรด ทุเรียน ลำไย ฯลฯ) มีกองทุนพัฒนาผลไม้เป็นกลไกสำคัญเพื่อยกระดับรายได้ของชาวไร่สับปะรดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสับปะรดตลอดห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำอย่างยั่งยืนด้วยแนวทางเกษตรมูลค่าสูง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 438 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน