มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 624 ครั้ง
ยุติธรรม ร่วมกับ ศาล-อัยการ-มหาดไทย-สาธารณสุข-ตำรวจ ลงนาม MOU ขับเคลื่อนกฎหมาย JSOC “สมศักดิ์” ชี้ต้องเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ปิดช่องก่อเหตุรุนแรง เดินหน้าสร้างความปลอดภัยให้ผู้หญิง-สังคม ทุกหน่วยขานรับพร้อมช่วยอำนวยความยุติธรรม เริ่มบังคับใช้กฎหมาย 23 ม.ค. 2566 นี้
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค.65 ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ จากผู้กระทำความผิดคดีทางเพศ หรือ ที่ใช้ความรุนแรง โดยมี นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธีรศักดิ์ เงยวิจิตร เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายอำนาจ เจตน์เจริญรักกษ์ รองอัยการสูงสุด นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พล.ต.ท.วีระ จิรวีระ รองจเรตำรวจแห่งชาติ ร่วมลงนาม และมี นางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บริหาร และข้าราชการ ร่วมพิธี
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการความร่วมมือ เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ จากผู้กระทำความผิดคดีทางเพศ หรือ ที่ใช้ความรุนแรง ระหว่าง สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กระทรวงยุติธรรม เพราะเราเล็งเห็นว่า เหตุสะเทือนขวัญ มักจะเกิดขึ้นแทบจะทุกปี ผู้ก่อเหตุ มักมีพฤติกรรมก่อเหตุซ้ำ เช่น สมคิด พุ่มพวง, ไอซ์ หีบเหล็ก, วันชัย แสงขาว จึงขับเคลื่อนร่างกฎหมายนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิง ด้วยการป้องกันบุคคลอันตรายเหล่านี้ ออกมาก่อเหตุซ้ำ ซึ่งเราได้ศึกษามาจากกฎหมายของต่างประเทศจำนวนมาก
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กฎหมาย JSOC จะใช้กับผู้กระทำผิด 3 กลุ่ม 1.เกี่ยวกับเพศ 2.ชีวิตร่างกาย 3.เสรีภาพ โดยมี 2 มาตรการ 1.แก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด 2.เฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ ผู้ถูกเฝ้าระวังหลังพ้นโทษ จะถูกใส่กำไลอีเอ็ม ไม่เกิน 10 ปี หากพบพฤติกรรมเสี่ยง ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ควบคุมตัวได้ทันที ไม่เกิน 48 ชั่วโมง และคุมประพฤติ สามารถเสนออัยการ ให้ยื่นศาล คุมขังฉุกเฉินได้อีกไม่เกิน 7 วัน เปลี่ยนมาตรการเฝ้าระวัง เป็นคุมขัง ได้ไม่เกิน 3 ปี
“กฎหมายนี้เราใช้เวลาไม่นานในการร่างกฎหมาย เพราะผมต้องการสร้างเครื่องมือในการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสะเทือนขวัญ จึงทำให้กฎหมายฉบับนี้ใช้เวลาเพียง 1 ปี 8 เดือน โดยยกร่างกฎหมาย เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2564 และจะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 ม.ค. 2566 ทำให้ในวันนี้เรามีการบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนกฎหมายตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม อย่างหน่วยงานที่เข้าร่วมกับเราอย่าง สตช. จะช่วยสรุปสำนวนเพิ่มตามกฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด จะช่วยยื่นคำร้องต่อศาล ให้มีคำสั่งใช้มาตรการต่างๆกับบุคคลอันตราย สำนักงานศาลยุติธรรม จะมีคำสั่งใช้มาตรการพิเศษเพิ่มขึ้น จากบทลงโทษตามปกติ กระทรวงสาธารณสุข จะช่วยส่งทีมแพทย์ วินิจฉัยและบำบัดแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต และกระทรวงมหาดไทย จะใช้กลไกผู้นำชุมชนทั้ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการช่วยเฝ้าระวัง บุคคลอันตราย ไม่ให้มีโอกาสก่อเหตุซ้ำ” นายสมศักดิ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีมีทูตประเทศต่างๆ มาเข้าพบ และมีการพูดคุยถึงโทษประหารชีวิต ที่อยากให้ประเทศไทยมีการยกเลิก ว่า ตนได้ให้ความเห็นไปว่าการจะยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ ต้องไม่มีคนทำผิดในคดีหนักๆ ซึ่งวันนี้เรามีกฎหมาย JSOC ที่มีการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการกระทำผิดรุนแรง โดยทำให้ในอนาคตมีโอกาสยกเลิกโทษประหารชีวิตได้ เพราะกฎหมาย JSOC จะช่วยควบคุมไม่ให้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น
นายธีรศักดิ์ กล่าวว่า มองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นโอกาสดี ที่จะได้พัฒนาระบบอำนวยความยุติธรรม เพื่อที่จะได้ร่วมทำให้เกิดความยุติธรรมให้กับประชาชน โดยจะมีการร่วมส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมายนี้กับทุกภาคส่วน
นายอำนาจ กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุคดีอุกฉกรรจ์ข่มขืน และผู้กระทำผิดมีประวัติก่ออาชญากรรมมาแล้ว สังคมจะตั้งคำถามว่า ภาครัฐจะจัดการคนเหล่านี้อย่างไร หรือคุ้มครองสังคมให้ปลอดภัยได้อย่างไร ซึ่งตนมองว่ากฎหมายฉับนี้จะช่วยตอบคำถามให้สังคมได้เป็นอย่างดี
พล.ต.ท.วีระ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์กับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ที่จะสร้างมาตรการดูแลความปลอดภัย โดยตำรวจถือเป็นหน่วยงานต้นทางในการส่งสำนวนประกอบการพิจารณาของอัยการ เพื่อให้มีคำสั่งมาตรการฟื้นฟูสำหรับผู้ที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงหากพ้นโทษ ตำรวจก็ยังสนับสนุนบุคคลากร เฝ้าระวังเหตุฉุกเฉินด้วย
นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจไม่ให้ผู้ก่อเหตุไปทำผิดซ้ำ รวมทั้งทำให้สังคมช่วยกันดูแลให้คนที่เคยทำผิดกลับตัวเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวและสังคม ตนขอบคุณ รมว.ยุติธรรม ที่พยายามขับเคลื่อน ดูแลคนในสังคม ด้วยการช่วยสกัดยับยั้ง ไม่ให้ผู้ถูกเฝ้าระวังไปก่อเหตุรุนแรงอีก
นางพงษ์สวาท กล่าวว่า ในนามกระทรวงยุติธรรม ขอขอบคุณ รมว. ที่ให้ความสำคัญในการสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน ก่อนกฎหมายบังคับใช้ ได้มีการสั่งการในระยะเร่งด่วน ให้มีการตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัย ส่วนในระยะยาวก็ผลักดันจนกฎหมายฉบับนี้สำเร็จแล้ว ซึ่งนอกจากกระทรวงยุติธรรม จะบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆแล้ว ยังมีการบูรณาการภายในกระทรวง เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นประโยชน์แก่ประชาชน
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 624 ครั้ง