สตง. ห่วงเกษตรกรไทยได้รับผลกระทบโควิด-19 โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 569 ครั้ง

สตง. ห่วงเกษตรกรไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ล่าสุดเข้าตรวจสอบพร้อมให้ข้อเสนอแนะโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ หวังเกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน

ทั้งนี้ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และน้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยการพัฒนาพื้นที่เกษตรทฤษฎีไหมในรูปแบบกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำสำหรับทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ทั้งในส่วนกิจกรรมหลักและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องตลอดทั้งปี ฟื้นฟูภาคการเกษตรภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยมุ่งเน้นเกษตรกรที่มีความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจัง

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการ1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการเดือนกรกฏาคม 2563 จนถึงสิ้นสุดโครงการ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้

1. ผลการดำเนินโครงการต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย จากการตรวจสอบพบว่าโครงการดังกล่าวมีผลผลิตต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย อาทิ มีพื้นที่เกษตรทฤษฎีใหม่เพิ่มขึ้น จำนวน 96,587 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 76.89 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น 125,615 ไร่ มีพื้นที่เก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น จำนวน 67.8068 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 77.05 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น 87.9987 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการจ้างงานเกษตรทฤษฎีใหม่ระดับตำบล จำนวน 15,102 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 94.39 ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ทั้งสิ้น 16,000 ราย เป็นต้น

“การที่ผลการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายเกิดจากจำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต่ำกว่าเป้าหมาย โดยพื้นที่เป้าหมายบางส่วนไม่มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการหรือเกษตรกรไม่สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่โครงการกำหนด และมีเกษตรกรลาออกระหว่างดำเนินโครงการเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาครัฐเสียโอกาสในการใช้จ่ายเงินกู้คงเหลือตามโครงการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในการบรรเทาปัญหาการว่างงาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่น ๆ และช่วยเหลือเกษตรกรฟื้นฟูภาคเกษตร ผลิตสินค้าด้านพืช สัตว์ ประมง รองรับความขาดแคลนอาหารในอนาคต นอกจากนี้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแต่ไม่ได้รับกรขุดสระเก็บกักน้ำอาจประสบปัญหาขาดแหล่งน้ำในช่วงฤดูแล้งเพื่อใช้ดำเนินกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรในช่วงเวลาดังกล่าว และเกษตรกรที่ไม่ได้รับสนับสนุนปัจจัยการผลิตเสียโอกาสในการนำปัจจัยการผลิตที่ควรได้รับไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ และต้องใช้เงินทุนของตนเองจัดหาปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นอีกด้วย” รายงานผลการตรวจสอบ ระบุ

2. ผลการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเสี่ยงที่ จะไม่เป็นไปตามที่โครงการมุ่งหวัง จากการสังเกตการณ์แปลงและสัมภาษณ์เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 158 ราย ในระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2565 พบว่า มีแปลงของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ยังไม่ได้ดำเนินกิจกรรมครบ 4 ส่วน ตามหลักการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นต้น จำนวน 111 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 70.25 ของแปลงที่สุ่มตรวจสอบทั้งหมด เช่น ไม่มีการจัดสรรพื้นที่เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ไม่มีการปลูกข้าว หรือไม่มีการปลูกไม้ผลหรือพืชผักสวนครัว ทั้งนี้ในจำนวนแปลงของเกษตรกรดังกล่าว บางแห่งมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่แตกต่างไปจากก่อนเข้าร่วมโครงการ บางแห่งมีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ว่างเปล่าหรือรกร้าง และบางแห่งสระเก็บกักน้ำโครงการไม่สามารถเก็บกักน้ำได้

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลการดำเนินโครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และผลการดำเนินโครงการบางส่วนมีความเสี่ยงที่จะไม่เป็นไปตามที่โครงการมุ่งหวังมาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบขาดการสำรวจข้อมูลสภาพพื้นที่ที่เหมาะสมและความต้องการของเกษตรกรในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การคัดเลือกพื้นที่ที่จะเข้าร่วมโครงการขาดการพิจารณาความเหมาะสมของสภาพพื้นที่หรือความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาหรือปรับเปลี่ยนเพื่อที่จะดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ การคัดเลือกเกษตรกรขาดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาความตั้งใจเอาใจใส่อย่างจริงจังของเกษตรกร การพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่สร้างสะเก็บกักน้ำตามแนวทางที่กำหนดยังไม่สามารถพิจารณาสภาพพื้นที่ได้อย่างแน่ชัดเพียงพอ ทำให้ผลการคัดเลือกพื้นที่บางแห่งมีความคลาดเคลื่อน และการดำเนินโครงการล่าช้ากว่าแผนที่กำหนด ส่งผลให้เงินงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการมีแนวโน้มที่จะไม่เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และงบประมาณที่ใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่โดยการขุดสระเก็บกักน้ำอาจสูญเปล่าจากการที่สระเก็บกักน้ำไม่สามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้” รายงานผลการตรวจสอบ ระบุ

จากผลการตรวจสอบข้างต้น สตง. จึงได้มีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ให้หน่วยงานร่วมดำเนินงานสำรวจความต้องการของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ แต่ไม่ได้รับการขุดสระเก็บกักน้ำ หรือไม่ได้รับสนับสนุนปัจจัยการผลิตด้านปรับปรุงบำรุงดิน ด้านพืช ด้านปศุสัตว์ และด้านประมง พร้อมทั้งกำหนดแนวทางการช่วยเหลือให้เกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงในอาชีพทำเกษตรทฤษฎีใหม่ได้อย่างเหมาะสม และสามารถเป็นแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้ด้านการเกษตรทฤษฎีใหม่ได้ตามเป้าหมายที่โครงการกำหนด หากมีการดำเนินโครงการที่มีลักษณะเดียวกันในอนาคตควรให้ความสำคัญกับการคัดเลือกเกษตรกรและพื้นที่เป้าหมายที่จะดำเนินโครงการซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลให้การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหวัง โดยกำหนดให้มีการศึกษาข้อมูลความเหมาะสมของพื้นที่ และความต้องการของเกษตรกรในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ กำหนดแนวทางหรือหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่มีศักยภาพและความพร้อมในการดำเนินกิจกรรมตามรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ ฯลฯ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 569 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน