เริ่มใช้แล้ววันนี้! กฎหมาย JSOC ป้องกันทำผิดซ้ำคดีทางเพศ-ความรุนแรง จ่อประเดิมใส่กำไลอีเอ็ม 29 ราย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 774 ครั้ง

“รมว.ยุติธรรม” คิกออฟ กฎหมายป้องกันทำผิดซ้ำ เตรียมใส่กำไลอีเอ็ม บุคคลอันตราย 29 ราย หลังกฎหมายเริ่มใช้วันนี้ หวัง เป็นเครื่องมือสร้างความปลอดภัยให้สังคม-ผู้หญิง แจง ย้ายอธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้องค์กรอยู่ได้ ยืนยัน ตรวจสอบเต็มที่ ยอมไม่ได้ ลั่น ตั้งใจทำงาน ฟอกเงิน-ยาเสพติด มาเหนื่อยมากจะให้มาเสียหายไม่ได้

วันนี้ (23 ม.ค.66) เวลา 10.00 น. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ โดยมี นางพงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม นายวีระกิตต์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายฉกรรจ์ พานิชยิ่ง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ พ.ต.อ.น้ำเพชร ทรัพย์อุดม ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมที่กระทรวงยุติธรรม เพื่อวางกรอบนโยบายในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ที่เริ่มมีผลบังคับใช้วันนี้ 

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า วันนี้ พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง หรือ กฎหมาย JSOC จะเริ่มมีผลบังคับใช้ ดังนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะกว่ากฎหมายฉบับนี้ จะสามารถออกมาสร้างความปลอดภัยให้กับสังคมได้ เราจึงต้องให้ความสำคัญ กับการใช้มาตรการต่างๆตามกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะการใส่กำไลอีเอ็ม กับบุคคลอันตราย รวมถึงใช้มาตรการคุมขังฉุกเฉิน หากพบว่า ผู้ถูกเฝ้าระวังมีพฤติกรรมเสี่ยง ซึ่งเรื่องนี้ ศาล ก็กรุณาให้ความร่วมมือเปิดทำการวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อรองรับการขอคำสั่งคุมขังฉุกเฉิน เป็นเวลา 7 วัน 

จากนั้น นายสมศักดิ์ ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีผลบังคับใช้แล้ว โดยใช้ระยะเวลาในการยกร่าง 1 ปี 7 เดือน ซึ่งจากนี้ กระทรวงยุติธรรม ก็จะต้องทำกฏกระทรวงควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยภายหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ก็จะมีผู้ต้องขัง ที่จะพ้นโทษ จำนวน 29 ราย ในฐานความผิด เกี่ยวกับเพศ ชีวิตร่างกาย และเสรีภาพ ต้องถูกเฝ้าระวังตามมาตรการต่างๆ อย่างการใส่กำไลอีเอ็ม สูงสุดไม่เกิน 10 ปี แต่ถ้าประพฤติตัวดี ก็สามารถขอลดระยะเวลาการใส่กำไลอีเอ็มได้ ซึ่งผู้ที่กระทำความผิด ตามที่กฎหมายฉบับนี้กำหนด ถึงแม้เกิดก่อนกฎหมายบังคับใช้ แต่เป็นคดีในชั้นศาลแล้ว ก็สามารถบังคับใช้มาตรการต่างๆ ตามบทเฉพาะกาลได้ 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการบำบัดฟื้นฟู จะมีการเริ่มบำบัดตั้งแต่อยู่ในเรือนจำ ตามการพิจารณาของทีมแพทย์ ก่อนที่จะมีการปล่อยตัวออกมา จากนั้น จะเข้าสู่มาตรการเฝ้าระวัง ด้วยการใส่กำไลอีเอ็ม ตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ เสนออัยการ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งใช้มาตรการต่างๆ ซึ่งหลังจากใช้ควบคุมบุคคลอันตรายแล้ว อนาคตก็จะมีการพัฒนาไปใช้กับกลุ่มผู้ติดยาเสพติด ที่เกิดอาการหลอน จนไม่มีใครสามารถควบคุมได้ จึงต้องเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู และใส่กำไลอีเอ็ม เพื่อเฝ้าระวัง เพราะต้องยอมรับว่า ยาเสพติด ก็คือต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดเหตุต่างๆ 

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวถามว่า สาเหตุการโยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ปรับเปลี่ยน เพื่อให้องค์กรอยู่ได้ โดยต้องได้รับความเชื่อมั่นจากสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำให้องค์กรเดินได้ ส่วนเรื่องการตรวจสอบต่างๆ ก็ต้องดำเนินการตรวจสอบตามที่ตนตั้งกรรมการสอบไปแล้ว ซึ่งในวันพรุ่งนี้ ก็จะมีการรายงานความคืบหน้าบางส่วน โดยหากพบส่วนใดผิด ก็ขอยืนยันว่า จะดำเนินการอย่างเต็มที่ ไม่ละเว้นใครทั้งสิ้น เพราะเรื่องนี้ ตนยอมไม่ได้ เนื่องจากตั้งใจทำงานทั้งเรื่องการฟอกเงิน ยาเสพติด มาเหนื่อยมาก จะให้มาเสียหายเพราะใครไม่ได้ พร้อมให้ความมั่นใจว่า ตนไม่มีเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา อย่างแน่นอน 

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 774 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน