มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 750 ครั้ง
นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ ร่วมประชุมเสวนาทางวิชาการและนิทรรศการเรื่องการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือใช้ความรุนแรง โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานเปิดการเสวนาฯ, นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง, นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง, ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุขวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และกรรมการในคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา, นายกุญช์ฐาน์ ทัดทูน อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด, นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผู้อำนวยการสถาบันกัลป์ยาณ์ราชนครินทร์, รศ.ดร ปกป้อง ศรีสนิท คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ ร่วมการเสวนาฯ โดยได้รับเกียรติจากนางสาวณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงยุติธรรม ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงยุติธรรรมในการสร้างสังคมปลอดภัย” ณ ห้องประชุม 402 – 403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา)
นายณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า บทบาทและหน้าที่ในการใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด กำหนดให้มีมาตรการหลัก 2 มาตรการ คือ มาตรการทางการแพทย์ และ มาตรการอื่นใดที่รัฐมนตรีกำหนด ได้แก่ มาตรการพัฒนาพฤตินิสัย โดยมาตรการทางการแพทย์ เริ่มตั้งแต่การบำบัดด้วยยาหรือสารเคมี เช่น การบำบัดผู้กระทำผิดคดีทางเพศด้วยการฉีดฮอร์โมน เพื่อลดความต้องการทางเพศ ไปจนกระทั่งไปถึงการบำบัดที่ไม่ใช่ยา เช่น การบำบัดทางพฤติกรรมหรือทางจิตที่ดำเนินการโดยบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปแบบของกลุ่มบำบัด (Group Therapy) ด้วยโปรแกรม CBT (Cognitive-behavior Therapy) เป็นต้น ดังนั้น เจ้าหน้าที่เรือนจำจึงมีหน้าที่ดำเนินการตามใบสั่งของแพทย์ เช่น การให้กินยาตามกำหนด การรับ-ส่ง ผู้ต้องขังไปยังสถานบำบัด ในกรณีที่ต้องรับการรักษาภายนอก รวมไปถึงการเก็บบันทึกผลการบำบัดรักษาของผู้ต้องขังเพื่อรายงานผลการบำบัดรักษาให้อัยการรับทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการพัฒนาพฤตินิสัยที่เป็นหลักสูตรหรือโปรแกรมพัฒนาพฤตินิสัย ดังนั้น บทบาทหน้าที่สำคัญของกรมราชทัณฑ์ คือ เรือนจำ/ทัณฑสถาน คัดกรองผู้ต้องขังที่มีพฤติการณ์แห่งคดีโทษอย่างรุนแรง เสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ และอาจมีโอกาสกลับไปทำร้ายสังคมได้อีก จัดทำรายงานการจำแนกลักษณะของนักโทษเด็ดขาด เสนอมาตรการเฝ้าระวัง หรือมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ หรือทั้ง 2 มาตรการร่วมกัน และส่งรายงานให้คณะกรรมการตาม มาตรา 16 พิจารณา เพื่อเสนออัยการ และศาลต่อไป
นายณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการคุมขังผู้กระทำผิดภายหลังพ้นโทษ เป็นมาตรการที่มีความเข้มงวดที่สุด ถึงจำเป็นต้องสั่งให้ใช้มาตรการดังกล่าวกับผู้พ้นโทษที่กระทำผิดในลักษณะรุนแรง โหดร้าย ทารุณ กรมราชทัณฑ์ พร้อมร่วมขับเคลื่อนพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง (JSOC) เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นร่วมกันในสังคม
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 750 ครั้ง