สตง. ลงพื้นที่ตรวจสอบแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 682 ครั้ง

สตง. ลงพื้นที่ตรวจสอบพร้อมให้ข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล วงเงินกว่า 119 ล้านบาท

นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภายใต้นโยบายการตรวจเงินแผ่นดินของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ได้ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) จึงได้กำหนดให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1-15 ตรวจสอบผลสัมฤทฺธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบในประเด็นที่มีความสำคัญและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาของแต่ละพื้นที่ อย่างน้อยปีละหนึ่งด้าน และในปี 2565 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 2 (จังหวัดชลบุรี) ได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ประเด็นการพัฒนาที่ 2 “การพัฒนาภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล” วงเงินงบประมาณกว่า 119 ล้านบาท ภายใต้แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 (จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) ประจำปี พ.ศ. 2562-2564 และ พ.ศ. 2562-2565 (ฉบับทบทวน) เพื่อให้ทราบถึงปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน พร้อมให้ข้อเสนอแนะเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานตามแผนพัฒนาดังกล่าว โดยมีประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้

1. ปัญหาการวัดผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามแผนพัฒนา จากการตรวจสอบพบว่าการจัดทำตัวชี้วัด ทั้งในระดับเป้าหมายการพัฒนา ประเด็นการพัฒนา และระดับกิจกรรม มีความไม่เหมาะสมและไม่สามารถวัดผลการปฏิบัติงานได้จริง เช่น การวัดผลสัมฤทธิ์ในระดับเป้าหมายการพัฒนา พบว่าไม่มีการกำหนดค่าเป้าหมายและ ค่าฐานของตัวชี้วัดเพื่อใช้เปรียบเทียบศักยภาพในการดำเนินการว่าต้องการให้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคเกษตรหรือการจำหน่ายสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเป็นเท่าใด และเปรียบเทียบกับฐานปีใด ทำให้ไม่สามารถวัดผลและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานได้  รวมถึงไม่มีการกำหนดหรือให้นิยามของสินค้าเกษตรเป้าหมายไว้ในเอกสารแผนพัฒนาว่าเป็นสินค้าเกษตรชนิดใดบ้าง จึงไม่สามารถจัดเก็บข้อมูลเพื่อวัดผลได้ เป็นต้น ซึ่งจากกรณีดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ไม่ทราบว่าการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินงานตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดจำนวนกว่า 119 ล้านบาท เกิดผลสัมฤทธิ์และมีความคุ้มค่าหรือไม่ เพียงใด นอกจากนี้ยังทำให้ขาดข้อมูลที่สำคัญสำหรับใช้ในการทบทวนแผนพัฒนาหรือจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ในรอบถัดไป ทั้งนี้ สาเหตุเกิดจากปัญหาด้านบุคลากรที่ยังขาดความรู้ในการจัดทำแผนพัฒนา โดยเฉพาะในส่วนของการกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดในระดับต่าง ๆ ตลอดจนปัญหาการรวบรวม วิเคราะห์ และจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องไม่เพียงพอและไม่เป็นปัจจุบัน

2. การดำเนินงานไม่เป็นไปตามแผนพัฒนา กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ได้กำหนดแผนงาน/โครงการ เพื่อขับเคลื่อนตัวชี้วัดตามประเด็นการพัฒนาที่ 2 ภายใต้แผนงานที่ 2 แผนงานพัฒนาด้านการเกษตร จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาภาคตะวันออกให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก จำนวน 5 กิจกรรม รวมงบประมาณทั้งสิ้น 202.53 ล้านบาท จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้ดำเนินโครงการกิจกรรมภายใต้ประเด็นการพัฒนาที่ 2 เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำรายละเอียดโครงการ/กิจกรรม ตามหลักการเขียนโครงการ และขาดกลไกในการตรวจสอบกลั่นกรองรายละเอียดโครงการ/กิจกรรมที่เสนอขอรับงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีที่มีประสิทธิภาพภายใต้หลักเกณฑ์และกรอบระยะเวลาการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีที่กำหนด ส่งผลให้กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 เสียโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออก 1 ให้เป็นแหล่งผลิตอาหารและผลไม้ปลอดภัยเพื่อการส่งออก และประชาชนกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการต่าง ๆ ในภาคการเกษตรไม่ได้รับการพัฒนามาตรฐานการผลิต การแปรรูป และการตลาด ตามแนวทางการพัฒนาและโครงการที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนา

3. การดำเนินงานบางกิจกรรมไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ จากการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินกิจกรรมที่สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้ จำนวน 10 กิจกรรม พบว่า กิจกรรมส่วนใหญ่บรรลุเป้าหมายผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ที่กำหนด มีเพียงกิจกรรมก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำบ้านหนองท่ากะสาว-บ้านหนองละลอก จังหวัดระยอง (ระยะที่ 2) วงเงินงบประมาณ 50,000,000 บาท ที่ยังไม่บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด โดยประชาชนกลุ่มเป้าหมายยังไม่ได้รับประโยชน์จากการดำเนินกิจกรรม เนื่องจากโครงการชลประทานระยองยังไม่มีการถ่ายโอนสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่ก่อสร้างในระยะที่ 1 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปบริหารจัดการ และจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อบริหารจัดการสูบน้ำยังไม่แล้วเสร็จ ส่งผลทำให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายบางส่วนได้รับความเดือดร้อน มีน้ำใช้เพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่ากิจกรรมก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำดังกล่าวมีเงื่อนไขความสำเร็จขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของโครงการ/กิจกรรมอื่นที่มิได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 จึงไม่สามารถดำเนินการหรือควบคุมให้เกิดผลลัพธ์ตามที่กำหนดได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการพิจารณากำหนดกิจกรรมตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก 1 ที่ไม่มีความเหมาะสมในการปฏิบัติและการควบคุมผลสัมฤทธิ์ตามที่กำหนด

จากผลการตรวจสอบดังกล่าว สตง. จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาจัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด การจัดทำตัวชี้วัดการพัฒนาในระดับต่างๆ การจัดทำรายละเอียดโครงการ/กิจกรรมที่เสนอขอรับงบประมาณ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ควรมีการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนา ประเด็นการพัฒนา และตัวชี้วัด อย่างเพียงพอและเป็นปัจจุบัน  มีการจัดทำคู่มือการวัดผลตามตัวชี้วัดแผนพัฒนา หรือจัดทำส่วนนิยามตัวชี้วัดไว้ในแผนพัฒนา เพื่ออธิบายตัวชี้วัดและวิธีการวัดผลเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจตรงกันและสามารถนำไปใช้ในการติดตามประเมินผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 682 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน