กองทัพเรือ เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3 /2566

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 594 ครั้ง

วันนี้ (22 ก.พ.66) เวลา 10.00 น. พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เป็นประธานการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมี พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พลอากาศเอก อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) และ พลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

          โดยในเวลา 08.30 น. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้เดินทางไปยัง กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม โดยมี ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับ ซึ่งในโอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ถวายสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากนั้น ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เชิญผู้บัญชาการทหารสูงสุด ขึ้นแท่นรับความเคารพจากทหารกองเกียรติยศ และตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ก่อนเดินทางไปยังท้องพระโรงชั้นในเพื่อสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในท้องพระโรงชั้นใน และลงนามในสมุดเยี่ยม

          ต่อมาในเวลา 09.00 น. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทาง โดยเรือ ขส.ทร.1209 ไปยังหอประชุมกองทัพเรือ เพื่อเข้าร่วมการประชุม ผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยก่อนการประชุม ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบเครื่องหมายความสามารถกิตติมศักดิ์ของกองทัพเรือ ให้แก่ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมภริยา ซึ่งการประชุมผู้บัญชาการเหล่าทัพในครั้งนี้ เป็นการประชุมครั้งที่ 3 ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งกองทัพเรือ ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยจะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนให้แต่ละเหล่าทัพเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม

          ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มอบหมายให้ พลโท ธีรพงศ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา โฆษกกองบัญชาการกองทัพไทย แถลงผลการประชุม ผบ.เหล่าทัพ ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ 2566 แก่สื่อมวลชน ณ ห้องโพธิ์สามต้น หอประชุมกองทัพเรือ โดยโฆษกกองบัญชาการทหารไทย เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้มอบนโยบายให้เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำรงความต่อเนื่องในการสนับสนุนการดำเนินการตามภารกิจจิตอาสาพระราชทานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อสนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขเพื่อให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนดำรงความต่อเนื่องในการบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทย โดยให้ถือเป็นการช่วยเหลือสังคมและกล่อมเกลาให้กำลังพลได้รู้จักความเสียสละและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม โดยในวันนี้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการปฏิบัติงานที่สำคัญ รวมถึงได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่าง ๆ ของกองทัพ ดังนี้

          กองบัญชาการกองทัพไทย ได้ชี้แจงนโยบายการฝึกของกองทัพไทย พ.ศ.2566 – 2570 เพื่อให้ส่วนราชการในกองทัพไทยใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการฝึก แผนงบประมาณประจำปี และพัฒนาระบบงานการฝึกของหน่วย โดยมีความสอดคล้องกับนโยบายและแผนในทุกระดับ สาระสำคัญประกอบด้วย นโยบายทั่วไป และนโยบายเฉพาะ ซึ่งมีแผนงานการฝึก จำนวน 4 ด้าน ได้แก่ การป้องกันประเทศ การรักษาความมั่นคงของรัฐ การเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ และการช่วยเหลือประชาชน

          กองทัพบก ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาการฝึกเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกให้มีความพร้อมรบ (Combat Readiness) มีขีดความสามารถในการรองรับภารกิจด้านความมั่นคงในทุกรูปแบบ และสามารถปฏิบัติการร่วมกับทุกเหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการฝึกที่สำคัญประกอบด้วย การฝึกตามวงรอบการฝึกประจำปีของกองทัพบก ซึ่งเป็นการฝึกขั้นพื้นฐานให้กับกำลังพล เพื่อให้เกิดทักษะความชํานาญทั้งในระดับบุคคล และระดับหน่วย การฝึกร่วม ซึ่งเป็นการฝึกร่วมกับเหล่าทัพ และส่วนราชการ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการฝึกร่วม/ผสมกับมิตรประเทศ ซึ่งเป็นการฝึกเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์และความชำนาญในการปฏิบัติงาน รวมถึงเป็นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในหลักนิยม ยุทธวิธี ขีดความสามารถ และความทันสมัยของยุทโธปกรณ์ในแต่ละกองทัพมิตรประเทศทั้งในระดับทวิภาคี และพหุภาคี

          กองทัพเรือ ได้รายงานผลการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ หรือ HADR ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 – 6 มกราคม 2566 ในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้เข้ารับการฝึกฯ จากกองทัพเรือ หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ มวลชน และนักท่องเที่ยวบนเกาะราชาใหญ่ รวมทั้งสิ้น 1,320 คน ผลจากการฝึกฯ ในครั้งนี้ได้รับทราบถึงขีดความสามารถของกำลังทางเรือในการปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่ทางทะเลและเกาะแก่ง อีกทั้งยังได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในขีดความสามารถของกันและกัน อันจะนำไปสู่การปฏิบัติการร่วมกันในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและใกล้เคียงเกิดความมั่นใจในขีดความสามารถและความพร้อมของกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          กองทัพอากาศ ได้นำเสนอแนวทางการปฏิบัติการร่วมกับเหล่าทัพ และหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนือร่วมกับศูนย์อำนวยการร่วมในพื้นที่ โดยกองทัพอากาศได้เตรียมความพร้อมกำลังพล อากาศยาน และอุปกรณ์ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ไฟป่าและประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง พร้อมปฏิบัติภารกิจในการบินกระจายเสียงในพื้นที่ยากแก่การเข้าถึง การบินลาดตระเวนค้นหาพื้นที่ไฟป่า การบินสร้างแนวกันไฟเพื่อควบคุมไฟป่า การบินลำเลียงทางอากาศและส่งกลับสายแพทย์ และการบินค้นหาและช่วยชีวิต นอกจากนี้ กองทัพอากาศ ยังมีโครงการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาไฟป่าและสลายหมอกควัน ได้แก่ การวิจัยและพัฒนาเครื่องผสมสารยับยั้งไฟป่า สารยับยั้งไฟป่าสูตร ทอ.1 ถุงบรรจุสารยับยั้งไฟป่าในกล่องอุปกรณ์ควบคุมไฟป่า บรรจุภัณฑ์ยับยั้งไฟป่าแบบติดตั้งอุปกรณ์หน่วงเวลา สถานีระบบควบคุมภาคพื้น อากาศยานไร้คนขับโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ อากาศยานไร้คนขับแบบ M Solar X การทำฝนหลวงเมฆอุ่น และพลุสารฝนหลวง เป็นต้น

          สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาการฝึกอบรมให้แก่กำลังพล เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและพัฒนาศักยภาพในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่ การฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ภายในหน่วย การทำหน้าที่เป็นวิทยากร ครูฝึก ถ่ายทอดองค์ความรู้ภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแก่หน่วยงานต่าง ๆ การส่งกำลังพลฝึกร่วมกับหน่วยต่อต้านการก่อการร้าย หน่วยปฏิบัติการพิเศษ เหล่าทัพ และหน่วยงานพลเรือน เช่น สถานศึกษา สาธารณสุข หน่วยงานปกครอง เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี และการติดต่อประสานงานเป็นขั้นตอนเมื่อเกิดเหตุร้าย การส่งกำลังพลเข้าแข่งขันหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (SWAT CHALLENGE) ทั้งในประเทศ และนานาชาติ การออกแบบการฝึกยิงปืนประเภทต่าง ๆ ให้กับข้าราชการตำรวจทั่วประเทศเพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับการตอบโต้ภัยคุกคามที่เปลี่ยนแปลงไป การส่งกำลังพลเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรในต่างประเทศกับหน่วยปฏิบัติการพิเศษชั้นนำระดับโลก เช่น หน่วย RAID ฝรั่งเศส และ Green Beret สหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลในการนำองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาปรับใช้ในการฝึกหลักสูตรต่าง ๆ และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

          ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้สั่งการให้เหล่าทัพติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างต่อเนื่องและเตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง และปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค รวมถึงเฝ้าระวังเหตุการณ์ไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นในห้วงฤดูร้อน พร้อมทั้งบูรณาการและประสานการปฏิบัติระหว่างเหล่าทัพและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยให้จัดเตรียมกำลังพลและยุทโธปกรณ์ให้พร้อมสำหรับการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตามที่ได้รับการร้องขอได้ทันที

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 594 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน