โครงการแข่งขันการพัฒนาแอพพลิเคชั่น เพื่อการชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก ครั้งที่ 1/2566

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 338 ครั้ง

จากสภาพปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ทำให้หลายภาคส่วนเข้ามาให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องคือการชดเชยคาร์บอน (Carbon Offset) ทั้งนี้ การชดเชยคาร์บอนในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากอย่างมีนัยสำคัญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มมีการดำเนินการให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม หากแต่การชดเชยคาร์บอนในปริมาณน้อย สำหรับบุคคล สถานประกอบการขนาดเล็ก หรือในโครงการย่อยขนาดเล็กยังไม่มีระบบสนับสนุนการดำเนินการให้เห็นอย่างเด่นชัด เนื่องจากเป็นการชดเชยคาร์บอน สำหรับหน่วยย่อยและในปริมาณน้อยมาก ซึ่งการพัฒนาระบบเพื่อให้สอดรับกับการชดเชยคาร์บอนในลักษณะดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูง

มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน จึงได้จัด โครงการแข่งขันการพัฒนา แอพพลิเคชั่นเพื่อการ ชดเชยคาร์บอนในหน่วยธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อให้เยาวชนได้เข้ามามีบทบาทในการมีส่วนร่วมพัฒนาระบบการชดเชยคาร์บอนสำหรับหน่วยธุรกิจขนาดเล็กที่มีการชดเชยในปริมาณน้อย และเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้ความรู้ที่ได้ศึกษามา มาพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากลไกเพื่อลด ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศต่อไป

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการชดเชยคาร์บอน

คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรหนึ่ง สามารถลดลงได้ หลังจากดำเนินกิจกรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินกิจกรรมตามปกติ เช่น การเปลี่ยนจากการใช้ ไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานฟอสซิล มาเป็นไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมการรีไซเคิลของเสียที่เกิดขึ้นแทนการทิ้งหรือทำลายของเสียการทำกิจกรรมใช้พลังงานไฟฟ้าใหม่ประสิทธิภาพมากขึ้น หรือการปลูกป่าซึ่งเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงจะแสดงออกมาในหน่วยของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และหลังจากได้รับการรับรองปริมาณการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดังกล่าวแล้ว จะได้รับการขึ้นทะเบียน โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หลังการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ที่ได้รับการอนุมัติ จะมีการตรวจสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลง และเมื่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้รับการรับรอง จะถูกเก็บสะสมไว้ในระบบทะเบียน ซึ่งเรียกว่า คาร์บอนเครดิต ซึ่งสามารถนำมา ซื้อ ขาย เปลี่ยนมือ และชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้

องค์กรใดที่ไม่สามารถลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนได้ สามารถติดต่อขอซื้อคาร์บอนเครดิต เพื่อนำมาหักลบกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนของตนเอง ที่เรียกว่าเป็นการชดเชยคาร์บอนหรือ Carbon Offset

สำหรับกรณีที่องค์กรซื้อคาร์บอนเครดิตมาหักลบเท่ากับปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา จะเป็นการชดเชยคาร์บอนทั้งหมด ทำให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนของตนเองมีค่าเป็นศูนย์ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutral

เกณฑ์การแข่งขัน

1. ผู้สมัครส่งผลงานเข้าแข่งขันเป็นเยาวชนไม่เกินระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า

2. ส่งผลงานเป็นกลุ่มโดยมีสมาชิกกลุ่มละไม่เกิน 5 คน

3. ผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันเป็นแอพพลิเคชั่นแบบ Web Base และสามารถแสดงผลได้บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้

เกณฑ์การพิจารณา

1. ความครบถ้วนของแอพพลิเคชั่นในการทำงาน เช่น การซื้อ ขาย โอน ชดเชย คาร์บอนเครดิต

2. ความเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานหรือ UserFriendly

3. รูปแบบภาพลักษณ์ของแอพพลิเคชั่น สามารถรองรับการแสดงผลได้บนอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์

4. ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด

การรับสมัครและส่งผลงาน

ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 – กำหนดรับสมัครผ่านทาง Google Form (https://forms.gle/aeVwUih5FjbouY5W9) โดยถือจากเวลาที่ระบบรับข้อมูลเป็นสำคัญ

2 มิถุนายน 2566 – โครงการจะแจ้งยืนยันการเข้าร่วมโครงการผ่านอีเมล์ของผู้ประสานงานที่ผู้สมัครได้แจ้ง

12 พฤษภาคม 2566 – กำหนดการปฐมนิเทศเพื่อชี้แจงถึงหลักการทำงาน และความรู้เรื่องการซื้อขายคาร์บอน เครดิตผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ผู้สมัครที่สมัครเข้าร่วมโครงการภายหลังการปฐมนิเทศ สามารถรับชมการปฐมนิเทศย้อนหลังได้ทางเว็บไซต์ หลังวันที่ 12 พฤษภาคม 2566

28 กรกฎาคม 2566 – กำหนดส่งผลงานในรูปแบบ Weblink พร้อมคลิปวีดีโอแสดงการสาธิตการใช้งานของแอพพลิเคชั่น (ก่อนเวลา 24.00 น) ทางอีเมล์ คุณกรวิชญ์ฯ korawir.re100@gmail.com และคุณอังศนาฯ aungsna.ch@gmail.com โดยถือ วัน เวลา อัพโหลดผลงานเข้าระบบเป็นสำคัญ

ระหว่างวันที่ 10-11 สิงหาคม 2566 – นำเสนอผลงานและตัดสิน (ซึ่งทางโครงการจะแจ้งกำหนดวัน เวลา สถานที่ ในการนำเสนอให้ทราบภายหลัง)

11 สิงหาคม 2566 – กำหนดการมอบรางวัล

รางวัลทุนการศึกษา

1. รางวัลชนะเลิศ ทุนการศึกษา 200,000 บาท

2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทุนการศึกษา 100,000 บาท

3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทุนการศึกษา 50,000 บาท

4. รางวัลชมเชย 2 รางวัล ทุนการศึกษาทุนละ 20,000 บาท

5. รางวัลปลอบใจ 10 รางวัล มูลค่ารางวัลละ 10,000 บาท

ผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกคน จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองการเข้าร่วมโครงการ

*หมายเหตุ :

1. ในกรณีที่เป็นเงินได้ที่เข้าข่ายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ทางผู้รับทุนเป็นผู้รับผิดชอบภาระการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร

2. ลิขสิทธิ์ในผลงานที่ได้รับรางวัลทุกรางวัลเป็นของผู้จัด

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน โทร. คุณกรวิชญ์ 091-804-6643 และคุณอังศนา 084-938-3057

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 338 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน