มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 334 ครั้ง
กฟผ. – กลุ่มมิตรผลและพันธมิตร (MPD Consortium) ประกอบด้วยบริษัท มิตรผล เอ็นเนอร์ยี เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท Dongfang Electric International Corporation จำกัด ลงนามสัญญาก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ย้ำเสถียรภาพพลังงานหมุนเวียนเพื่อความยั่งยืน เดินหน้าประเทศสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
นายหวัง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ ประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล ประธานในพิธีร่วมแสดงความยินดี โอกาสลงนามสัญญางานจัดซื้อและจ้างก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ ร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ระหว่าง กฟผ. กับ กลุ่มมิตรผลและพันธมิตร (MPD Consortium) โดยมีนายทิเดช เอี่ยมสาย รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ร่วมลงนามกับนายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย รองประธานคณะกรรมการบริหาร พร้อมด้วย นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และ ธุรกิจใหม่ กลุ่มมิตรผล ในนามบริษัท มิตรผล เอ็นเนอร์ยี เซอร์วิสเซส จำกัด นายหลี่ เจี้ยนฮัว ประธานกรรมการบริษัท Dongfang Electric International Corporation (DEC) และนายพโยมสฤษฏ์ ศรีพัฒนานนท์ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (PEA ENCOM) เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมเจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ
นายหวัง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฯ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีน-ไทยมีความร่วมมือฉันท์มิตรด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย และบริษัทจีนที่มีความเชี่ยวชาญได้เข้ามาร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทย อาทิ พลังงานสะอาด การเกษตรสมัยใหม่ เศรษฐกิจดิจิทัล ในด้านอุตสาหกรรมพลังงาน กฟผ. มีเป้าหมายพัฒนาพลังงานสะอาดสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลไทยเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน DEC ในฐานะองค์กรชั้นนำด้านพลังงานของจีน และพันธมิตรในประเทศไทย มีความเชื่อมั่นว่าความสำเร็จของโครงการจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือทางวิชาการก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศจีนและประเทศไทย
นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาโครงการที่เขื่อนอุบลรัตน์ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดของ กฟผ. ซึ่งมีแผนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำฯ อีก 15 โครงการทั่วประเทศ รองรับความต้องการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ตามนโยบายประเทศและ กฟผ. ในการขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กลยุทธ์ ‘Triple S’ คือ Sources Transformation เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และพัฒนาเทคโนโลยีทางเลือกเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียน Sink Co-creation เพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอน Support Measures Mechanism ส่งเสริมการมีส่วนร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในภาคประชาชน และส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า
สำหรับโครงการที่เขื่อนอุบลรัตน์มีขนาดกำลังผลิต 24 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดในรูปแบบผสมผสาน พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับพลังน้ำ พร้อมทั้งติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน BESS (Battery Energy Storage System) ที่ช่วยเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีเสถียรภาพมากขึ้น นับเป็นอีกก้าวหนึ่งของ กฟผ. ในฐานะผู้นำกลุ่มผู้ผลิตพลังงานสะอาด และเป็นอีกก้าวของประเทศในการเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050
นายบรรเทิง ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการบริษัทและประธานคณะกรรมการบริหาร กลุ่มมิตรผล กล่าวเสริมว่า กลุ่มมิตรผลมีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจพร้อมกับสร้างความยั่งยืนให้สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมานานกว่า 20 ปี ด้วยการต่อยอดจากภาคเกษตร สู่การพัฒนาพลังงานรูปแบบใหม่ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อสนับสนุนการผลิตพลังงานสะอาดที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศไทยภายในปี 2065 ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่มีแนวโน้มความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
นายหลี่ เจี้ยนฮัว ประธานกรรมการ DEC กล่าวว่า DEC ในฐานะเอกชนขนาดใหญ่ ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมด้านพลังงานเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ให้บริการและร่วมดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียนมาแล้วทั่วโลก อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ลม และระบบกักเก็บพลังงาน ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบความร่วมมือของประเทศจีน ที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาพลังงานร่วมกันกับประเทศไทยสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยและของโลก
นายพโยมสฤษฏ์ ศรีพัฒนานนท์ รักษาการ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ PEA ENCOM กล่าวว่า การพัฒนาโครงการฯ กฟผ. ที่เขื่อนอุบลรัตน์ ช่วยยกระดับประเทศไทยสู่ความมั่นคงด้านพลังงานสะอาด ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน สอดคล้องกับการจัดตั้งและแผนธุรกิจของ PEA ENCOM ซึ่งได้ร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ องค์กรชั้นนำด้านวิศวกรรมพลังงาน เราจึงเชื่อมั่นว่าการดำเนินการโครงการร่วมกันในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จด้วยดี บรรลุเป้าหมายของ กฟผ. อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและคนไทยต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 334 ครั้ง