ศาลเยาวชนฯ ชี้แจงขั้นตอนกรณีที่มีการดำเนินคดีกับ เยาวชนเด็กหญิง ข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 272 ครั้ง

ตามที่เด็กหญิง ธ. ได้ถูกดำเนินคดีต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 368 และพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 และมีการสื่อในสังคมออนไลน์กล่าวถึงการใช้ดุลพินิจของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ในการออกหมายจับและการควบคุมตัวเด็กหญิง ธ. ว่ากระทำไปโดยไม่ชอบนั้น

ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางขอชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบดังต่อไปนี้ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์2566 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอออกหมายจับเด็กหญิง ธ. ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยอ้างว่าเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 พนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 1 ให้เด็กหญิง ธ. มารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 น. แต่เด็กหญิง ธ. ไม่ไปพบตามหมายเรียกและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พนักงานสอบสวนจึงได้ออกหมายเรียกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ให้เด็กหญิง ธ. ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 น. โดยในครั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) ได้มีหนังสือ เรื่อง ขอแจ้งเหตุขัดข้องไม่อาจมาพบพนักงานสอบสวนได้ โดยให้เหตุผลว่า เด็กหญิง ธ. อยู่ระหว่างการเตรียมและสอบวัดผลปลายภาคเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต่อเนื่องรายงานตัวเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ทำให้ไม่สามารถไปพบพนักงานสอบสวนได้ และขอเลื่อนออกไปเป็น วันที่ 9 เมษายน 2566 เวลา 10.00 น. แต่กลับปรากฏว่าหลังจากขอเลื่อนเพียง 3 วัน คือ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 15.00 น. เด็กหญิง ธ. ได้ไปทำกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติอันแสดงให้เห็นว่าการขอเลื่อนการเข้าพบพนักงานสอบสวนในครั้งที่ 2 เป็นการประวิงเวลา ศาลพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 และพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 67 แล้ว เห็นว่ากรณีมีเหตุให้ออกหมายจับ จึงอนุญาตให้ออกหมายจับเด็กหญิง ธ. ตามขอ อันเป็นการออกหมายจับโดยชอบ วันที่ 12 พฤษภาคม 2566

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 เด็กหญิง ธ. ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมและถูกควบคุมตัวมายังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 ศาลได้ตรวจสอบการจับตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 73 โดยศาลตั้งที่ปรึกษากฎหมายแก่เด็กหญิง ธ. แม้เด็กหญิง ธ. ปฏิเสธการลงลายมือชื่อในใบแต่งตั้งที่ปรึกษากฎหมาย แต่ถือว่าศาลได้ตั้งที่ปรึกษากฎหมายให้ตามกฎหมายแล้ว และเห็นว่า การจับและปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย ในวันตรวจสอบการจับเด็กหญิง ธ. ไม่มีบิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การ ซึ่งเด็กอาศัยอยู่ด้วยมาศาลคงมีเพียงนาย ส. แถลงต่อศาลว่าเป็นคนรู้จักกับเด็กหญิง ธ. และเป็นบุคคลที่เด็กหญิง ธ. ไว้วางใจและมาทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองชั่วคราว เนื่องจากมารดาของเด็กหญิง ธ. เจ็บป่วยไม่สามารถมาศาลในวันดังกล่าว จึงเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนว่าเด็กหญิง ธ. อยู่ในความปกครองของมารดา ไม่ปรากฏว่านาย ส. เป็นผู้ปกครองตามกฎหมายหรือเป็นบุคคลที่เด็กหญิง ธ. อาศัยอยู่ด้วย ศาลย่อมไม่อาจมอบตัวเด็กหญิง ธ. ให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลซึ่งเด็กหญิง ธ. อาศัยอยู่ด้วยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว มาตรา 73 ได้ ศาลจึงมีคำสั่งให้ส่งเด็กหญิง ธ. ไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน บ้านปรานีข้อเท็จจริงยังปรากฏ ต่อมาว่า นับตั้งแต่วันตรวจจับจนถึงปัจจุบันนี้ มารดาของเด็กหญิง ธ. ไม่เคยมาศาล เพื่อติดต่อขอรับตัวเด็กหญิง ธ. ไปดูแล ทั้งยังไม่มีบุคคลใดมายื่นคำร้องขอปล่อยตัวเด็กหญิง ธ. ชั่วคราว การควบคุมตัวเด็กหญิง ธ. จึงเป็นไปโดยชอบ

อนึ่ง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กหรือเยาวชน คดีนี้บิดา มารดา ผู้ปกครอง บุคคลหรือองค์การ ซึ่งเด็กหญิง ธ. อาศัยอยู่ด้วยสามารถมาแสดงตนขอรับตัวเด็กหญิง ธ. ไปอยู่ในความดูแลตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 73 นอกจากนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กหญิง ธ. ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเด็กหญิง ธ. ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 106

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 272 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน