มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 347 ครั้ง
ผู้บัญชาการทหารเรือ ตรวจเยี่ยมการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริงของหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน (นย.) ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566
พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พร้อมด้วยคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ เดินทางไปตรวจเยี่ยมการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ณ สนามฝึกยิงอาวุธ กองการฝึก กองเรือยุทธการ หาดยาวทุ่งโปรง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี
การฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล ในการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566 โดยเป็นการฝึกในสถานการณ์ต่อเนื่องจากการฝึกยุทธวิธีร่วมของเรือในทะเล ในการป้องกันพื้นที่สำคัญของทัพเรือภาคที่ 1 และการฝึกตีโต้ตอบกำลังของข้าศึกที่ได้รุกล้ำอธิปไตยเข้ามาในพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือ โดยการฝึกยิงอาวุธทางยุทธวิธี ของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งเป็นการฝึกในการปฏิบัติการของหน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งประจำพื้นที่ โดยใช้อาวุธสำหรับป้องกันพื้นที่ทางบกจากการโจมตีของกำลังทางเรือและกำลังทางอากาศของฝ่ายตรงข้าม เพื่อตอบสนองภารกิจในการป้องกันประเทศ ซึ่งกำลังรบสำคัญในการฝึกครั้งนี้ ประกอบด้วย ปืนต่อสู้อากาศยาน อาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้แบบเคลื่อนที่ IGLA – S ปืนรักษาฝั่ง ซึ่งเป็นอาวุธประจำการของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และปืนรักษาฝั่งขนาด 155 มม. (ATMG) นอกจากนั้นยังมียานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ VN – 16 จากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และอากาศยานไร้คนขับแบบ RQ – 21 Blackjack จากกองเรือยุทธการร่วมในการฝึกด้วย ซึ่งการฝึกยิงอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ IGLA -S ในวันนี้เป็นการยิงด้วยลูกจรวดจริงเป็นครั้งแรก และอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยานระยะใกล้ IGLA -S ยังสามารถยิงทำลายเป้าบินในระยะ 1,500 เมตร ได้อย่างแม่นยำ
ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2566 นั้น นอกจากกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจะได้รับความรู้ ความชำนาญเพิ่มขึ้นจากการฝึกแล้ว ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของกำลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับเหล่าทัพอื่น เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขีดความสามารถของกำลังที่เตรียมไว้สำหรับการทำสงคราม ยังสามารถนำมาใช้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ และการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในยามปกติได้อีกด้วย
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 347 ครั้ง