ศรชล.เดินหน้าแก้ปัญหา “โพงพาง-ลอบพับ” กลางทะเลสาบสงขลา

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 664 ครั้ง

วันนี้ (19 มิ.ย.66) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศรชล. ครั้งที่ 2/2566 โดยมี พลเรือเอก เชิงชายชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ รอง ผอ.ศรชล. เป็นประธานการประชุม ร่วมด้วย พลเรือเอก ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ/เลขาธิการ ศรชล. คณะกรรมการบริหาร ศรชล. ผู้แทนหน่วยงานหลัก 7 ศร ใน ศรชล. ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าร่วมประชุม ณ โรงแรมลากูน่า แกรนด์ โฮเทล แอนด์ สปา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

สำหรับการประขุม ศรชล. สัญจรครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2566 โดยจัดในพื้นที่ ศรชล.ภาค 2  ซึ่งที่ประชุมได้หารืออย่างกว้างขวางในหลายวาระ ปรากฏสาระสำคัญสรุปนำเสนอดังนี้

– ศรชล. ดำเนินการนำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2566 – 2570) ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งกำหนดไว้ใน นโยบายและแผนความมั่นคงที่ 4 การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่มี ศรชล. เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก มาเป็นกรอบในการจัดทำแผนงานและแผนงบประมาณของหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบายและแผนฯ รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของนโยบายและแผนความมั่นคง ทั้ง 17 ด้าน มากำหนดแผนงาน/โครงการ/งบประมาณให้บรรลุเป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์และตัวชี้วัด ตามวิสัยทัศน์ ประเทศชาติมีเสถียรภาพ ประชาชนอยู่ดีมีสุข ปลอดภัยจากภัยคุกคามทุกรูปแบบ มีศักยภาพบริหารจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม และรักษาไว้ ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติอย่างยั่งยืน

– ศรชล. โดย กรมประมง เห็นสมควรควบรวมสาระสำคัญพร้อมทั้งแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในทะเลสาบสงขลา พ.ศ.2566 – 2570 ไว้ใน (ร่าง) นโยบายและแผนบริหารจัดการประมง พ.ศ.2566 – 2570 เพื่อให้ครอบคลุมประเด็นสาระสำคัญของการพัฒนาประมงทั้งระบบอย่างครบถ้วน และสรุปรายงานเสนอต่อ คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบ และเสนอให้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

– ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ศรชล. ตรวจสอบพบการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมาย มีการใช้เครื่องมือประมง ที่ทำลายล้างและผิดกฎหมาย ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นจำนวนมาก เช่น การใช้อวนรุน การใช้สารพิษเบื่อปลา การใช้ไฟฟ้าช๊อตปลา ลอบพับ อีกทั้งมีการติดตั้งเครื่องมือประมงประจำที่ประเภทโพงพาง ไซนั่ง อย่างหนาแน่น ส่งผลให้ปริมาณและชนิดของสัตว์น้ำในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาลดลงอย่างมาก กีดขวางทางน้ำ และทำให้ทะเลสาบตื้นเขินเร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งเครื่องมือประมงในบริเวณที่ไม่อนุญาต เช่น เขตร่องน้ำการเดินเรือ ทำให้การจราจรทางน้ำ ในการเดินเรือเข้าออกประสบปัญหา ฯลฯ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวทั้งระบบ

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังมีการหารือถึงแนวทางการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 โดย กรมคุมครองสิทธิและเสรีภาพ ได้มีหนังสือแจ้งแนวทางการปฏิบัติที่ส่งผลกระทบให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย รวมถึง ศรชล. ต้องดำเนินการบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับและควบคุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัว อย่างไรก็ดี เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ทาง สำนักสืบสวนสอบสวนและกฎหมาย ศรชล. ได้เชิญวิทยากรจาก กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย มาบรรยายและให้ข้อเสนอแนะกับหน่วยงานต่างๆ ใน ศรชล. เพื่อให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

ทั้งนี้ “ศรชล. นับเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 664 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน