ผบ.ทร. ตรวจเยี่ยมการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ปี’66 “การฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัย-ขจัดคราบน้ำมันในทะเล”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 328 ครั้ง

ผบ.ทร. ตรวจเยี่ยมการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปีงบประมาณ 2566 ภายใต้หัวข้อ “การฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล และการขจัดคราบน้ำมันในทะเล”

วันนี้ (20 มิ.ย.66) พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)/รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (รอง ผอ.ศรชล.) ตรวจเยี่ยมการฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2566 การฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล (SAR) และการขจัดคราบน้ำมันในทะเล (Oil spill) ระหว่างวันที่ 19 – 20 มิถุนายน 2566 โดย พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ/ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศรชล. พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ/เลขาธิการ ศรชล. พล.ร.ท.ประวิณ จิตตินันทน์ รองเลขาธิการ ศรชล. พล.ร.ท.จรัสเกียรติ ไชยพันธุ์ ผู้บัญชาการทัพเรือ ภาคที่ 2/ผู้อำนวยการ ศรชล. ภาค 2 พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานหลัก 7 ศร ใน ศรชล. ประกอบด้วย กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมชมการฝึก ณ ลานวัฒนธรรมหาดชลาทัศน์ และพื้นที่ทางทะเล จังหวัดสงขลา

โดยในเวลา 09.10 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ/รอง ผอ.ศรชล. พร้อมด้วยคณะผู้บังคับบัญชา ศรชล. ได้รับชมการฝึกสาธิต “การฝึกช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล (SAR) และการขจัดคราบน้ำมันในทะเล (Oil spill)” จากนั้นเวลา 09.40 น. ผู้บัญชาการทหารเรือ/รอง ผอ.ศรชล. พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชม บูธนิทรรศการของหน่วยงานในพื้นที่ รวมถึง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา ฯลฯ

พล.ร.ต.ไชยนันท์ ชูใหม่ โฆษก ศรชล. เปิดเผยว่า การฝึกปฏิบัติการร่วม ศรชล. ประจำปี 2566 เป็นการฝึกร่วมกันของหน่วยงานต่างๆ ในศรชล. และหน่วยที่เกี่ยวข้องโดยบูรณาการการฝึกร่วมกับการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2566 และจะผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกการบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติประจำปี2566 (C-MEX 23) ของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในประเด็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลโดยใช้กำลังหลักของศรชล.ภาค2 ดำเนินการฝึกที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบการบัญชาการเหตุการณ์  /การอำนวยการตามสถานการณ์ ระบบติดตามสถานการณ์ การสื่อสาร การบูรณาการการปฏิบัติการร่วมกับกำลังทางเรือของหน่วยงานหลักใน ศรชล.ภาค 2 รวมถึงหน่วยงานของรัฐและเอกชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติการและตอบสนองให้ทันต่อสถานการณ์ด้านความมั่นคงจากภัยคุกคามทางทะเลที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เน้นย้ำภารกิจความสำคัญของ ศรชล. เป็นหน่วยงานบูรณาการที่มีความพร้อมในทุกมิติของการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ภายใต้การบูรณาการปฏิบัติการร่วมกับกำลังทางเรือของหน่วยงานหลักใน ศรชล. โดยมีเรือจาก ศรชล. (เรือ ศรชล. 1 ลำ และเจ็ทสกี 4 ลำ) เรือและอากาศยานจาก กองทัพเรือ ประกอบด้วย เรือหลวงปัตตานี เรือหลวงราวี เรือหลวงแรด เรือ ต.264 เครื่องบินลาดตระเวน และ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ S -76 B รวมถึง เรือยาง และเรือยางท้องแข็งทางยุทธวิธี (RHIB) อีกจำนวนหนึ่ง ในส่วนของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดเรือทรัพยากร 211 เรือตรวจการณ์ 518 และ เรือตรวจการณ์ชายฝั่ง กรมประมง จัดเรือตรวจประมงทะเล 325 ในขณะที่ กรมศุลกากร จัดเรือศุลกากร 607 เข้าร่วมการฝึก นอกจากนั้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ยังได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เข้าร่วมฝึกด้วย

โฆษก ศรชล. กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ฝึกครั้งนี้ สมมติให้เรือท่องเที่ยว VIKER OCEAN เกิดอุบัติเหตุโดนกันกับเรือบรรทุกน้ำมัน Sea Giant มีน้ำมันรั่วไหลลงทะเลกว่า 200,000 ลิตร โดย ศรชล.ภาค 2 บูรณาการจัดหน่วยเผชิญเหตุตามระบบบัญชาการเหตุการณ์ (Incident Command System หรือ ICS) สั่งการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลเพื่อส่งกลับสายแพทย์ตลอดจนการขจัดคราบน้ำมันรั่วไหลแก้ไขสถานการณ์ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด

ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 328 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน