มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 585 ครั้ง
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.66 พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พร้อมคณะนายทหารระดับสูงของกองทัพเรือ รับฟังการแถลงผลและเป็นประธานปิดการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2566 ณ ห้องบริพัตร อาคารสถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม โดยมี พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ (รอง ผบ.ทร.) ในฐานะ ผู้อำนวยการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566 (ผอ.การฝึก ทร.66) ให้การต้อนรับ โอกาสนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อทางกองอำนวยการฝึก จะได้นำไปปรับใช้กับการฝึกกองทัพเรือ ในครั้งต่อไป
สำหรับการฝึกกองทัพเรือเป็นการบูรณาการการฝึก ด้วยการนำขีดความสามารถในการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ และการปฏิบัติหน้าที่ของกรมในส่วนบัญชาการ ส่วนยุทธบริการ และส่วนการศึกษา ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน มาทำการฝึกภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันและใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อให้ทุกหน่วยสามารถปฏิบัติงานร่วมกันอย่างประสานสอดคล้อง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้กำหนดรูปแบบการฝึกเป็นวงรอบการฝึก 2 ปี ภายใต้สถานการณ์ฝึกเดียวกันแบบต่อเนื่องในการฝึก ทร.65 และ การฝึก ทร.66 โดยการฝึก ทร.66 เป็นการฝึกในสถานการณ์การป้องกันประเทศด้านตะวันออก มุ่งเน้นการทดสอบการปฏิบัติและการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการในสถานการณ์วิกฤตจนถึงขั้นป้องกันประเทศ การทดสอบแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ พ.ศ.2563 การทดสอบการปฏิบัติและการบูรณาการฝึก ระหว่างกองทัพเรือกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล หรือ ศรชล. เมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น รวมทั้งการใช้กำลังใน ศรชล. เข้ามาร่วมปฏิบัติการกับกองทัพเรือ
นอกจากนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบนโยบายการฝึกเพิ่มเติม ให้ดำเนินการจัดการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ และการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น – สู่ – พื้น แบบ Harpoon Block 1C ในพื้นที่ทะเลอันดามัน
การดำเนินการฝึก ทร.66 มีขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นการอบรมก่อนการฝึก ซึ่งเริ่มปฏิบัติในห้วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อทบทวนความรู้ความเข้าใจให้กำลังพลมีความพร้อมก่อนเริ่มทำการฝึก ขั้นการฝึกปัญหาที่บังคับการหรือ CPX ในห้วงเดือนมีนาคม 2566 โดยมีการฝึกทดสอบกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจตามกระบวนการวางแผนทางทหาร และการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการ ตั้งแต่สถานการณ์ในภาวะปกติ สถานการณ์วิกฤติจนถึงขั้นสถานการณ์ความขัดแย้งระดับสูง สำหรับขั้นการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล หรือ FTX ในห้วงเดือนมีนาคม 2566 ถึง มิถุนายน 2566 เป็นการฝึกตามสาขาปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ เพื่อทดสอบความพร้อมองค์บุคคล องค์วัตถุ และองค์ยุทธวิธีในการปฏิบัติตามกิจที่ได้รับมอบ โดยหน่วยรับการฝึกได้ใช้โครงสร้างจริงของหน่วยทุกระดับ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด “รบอย่างไร ฝึกอย่างนั้น”
นอกจากนี้ ยังได้มีการบูรณาการการฝึกร่วมกับกำลังของ ศรชล.และหน่วยงานต่าง ๆ ใน ศรชล. ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ทักษะและความชำนาญในการปฏิบัติหน้าที่ อันจะนำไปสู่การปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพ
ในส่วนการฝึกกระบวนการวางแผนทางทหาร ได้ดำเนินการตามหลักการที่กำหนดในเอกสารอ้างอิงของกองทัพเรือ และได้เชิญผู้แทนเหล่าทัพมาร่วมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางใช้กำลัง ทำให้มีความเข้าใจในการปฏิบัติการร่วมเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญ ท่านผู้บัญชาการทหารเรือยังได้กรุณาเข้ามาร่วมการฝึก และกรุณามอบแนวความคิดการปฏิบัติเพิ่มเติม เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยต่าง ๆ สามารถนำไปกำหนดรายละเอียดรองรับตามคำสั่งยุทธการให้ประสานสอดคล้องกันได้ต่อไป
ในการฝึกปัญหาที่บังคับการ หรือ CPX ได้ดำเนินการฝึกในห้วงเดือน มีนาคม 2566 เป็นระยะเวลารวม 14 วัน โดยเป็นสถานการณ์ต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง จำนวน 3 วัน ทำให้การฝึกในขั้นปกติ สถานการณ์วิกฤติจนถึงขั้นป้องกันประเทศ เป็นไปอย่างสมจริง สามารถทดสอบแนวคิดตามแผนป้องกันประเทศ และการอำนวยการยุทธ์ได้เป็นอย่างดี
สำหรับการฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล หรือ FTX ในภาพรวมทำการฝึก ระหว่าง 20 มีนาคม – 19 พฤษภาคม 2566 เป็นการฝึกภาคปฏิบัติตามสาขาปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ เพื่อทดสอบความพร้อมในการปฏิบัติตามกิจที่ได้รับมอบของหน่วยในระดับยุทธการและยุทธวิธี ซึ่งได้จัดกำลังทางเรือเป็นกองเรือเฉพาะกิจทำการฝึกในพื้นที่อ่าวไทย และทะเลอันดามัน เพื่อให้สอดคล้องกับการทดสอบแนวทางการใช้กำลังของกองทัพเรือ พ.ศ.2563 โดยนำแนวความคิดการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศมาใช้ทดสอบในการฝึก ประกอบด้วย การฝึกปฏิบัติการทางเรือตามสาขาต่าง ๆ ของกองเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการระยะไกล
ในการนี้ ได้จัดให้มีการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น – สู่ – พื้น แบบ Harpoon Block 1C โดย ร.ล.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นเรือที่ต่อขึ้นในประเทศไทย เพื่อทดสอบการปฏิบัติและเสริมสร้างความชำนาญในการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีของเรือ
นอกจากนั้นแล้วยังมีการฝึกป้องกันพื้นที่ของทัพเรือภาคที่ 1 2 และ 3 จากการแทรกซึมโจมตี จากข้าศึกสมมติในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละทัพเรือภาค โดยการจัดกำลังของกองทัพเรือเดินทางไปฝึกในพื้นที่ทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการการฝึกครอบคลุมการปฏิบัติการทางเรือสาขาต่าง ๆ โดยใช้จ่ายงบประมาณด้วยความประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด
สำหรับการฝึกภาคสนามของหน่วยกำลังทางบก ได้วางแผนการฝึกร่วมกันระหว่างหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินกับ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ในการฝึกยิงปืนรักษาฝั่งขนาด 155 มม. ต่อเป้าหมายในทะเลโดยใช้ศูนย์อำนวยการยิงเดียวกัน การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีป้องกันตนเองระยะประชิดแบบ IGLA – S และการฝึกยิงอาวุธโดยยานเกราะโจมตีสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ VN – 16 ณ พื้นที่สนามฝึกยิงอาวุธ หาดยาวทุ่งโปรง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ณ สนามฝึกกองทัพเรือหมายเลข 16 บ้านจันทเขลม จังหวัดจันทบุรี โดยได้มีการใช้ขีดความสามารถของอากาศยานไร้คนขับมาสนับสนุนการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถการปฏิบัติการของหน่วยกำลังทางบก
นอกจากนี้ กองทัพบกได้จัดกำลัง 1 หมวดรถถัง แบบ T – 84 Oplot จำนวน 5 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 2 กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และกองทัพอากาศได้จัดอากาศยานแบบ F – 16 จำนวน 2 ลำ จาก ฝูงบิน 103 กองบิน 1 ทำการสนธิกำลังเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ด้วย
นอกจากรายการฝึกต่าง ๆ ข้างต้นยังจัดให้มีการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ หรือ HADR โดยประกอบกำลังจากหน่วยต่าง ๆ เป็นหมู่เรือฝึกบรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือออกเดินทางจากฐานทัพเรือสัตหีบไปทำการฝึกฯ ในพื้นที่ทัพเรือภาคที่ 3 เพื่อทดสอบแผนบรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือและขีดความสามารถในการปฏิบัติการของหน่วยต่าง ๆ โดยเฉพาะการทดสอบความพร้อมและขีดความสามารถของหน่วยต่าง ๆ ด้าน HADR ทั้งการควบคุมและอำนวยการปฏิบัติของหน่วยกำลังในพื้นที่ประสบภัยในพื้นที่เกาะ ณ เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต ในลักษณะของการใช้ขีดความสามารถของกำลังทางเรือ เข้าช่วยเหลือประชาชนจากทางทะเล ซึ่งเป็นไปตามแนวความคิดการปฏิบัติการจากทะเลสู่ฝั่งหรือ Operation From the Sea รวมทั้งมีการปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานราชการพลเรือน และภาคเอกชน ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนและเสริมสร้างความเข้าใจในการปฏิบัติงาน ระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
โดยสรุปแล้วการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2566 สามารถตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และนโยบายการฝึกของกองทัพเรือได้ทุกประการ ซึ่งได้ปรากฏผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลการฝึกในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์จนถึงระดับยุทธวิธี และยังเป็นการบูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดรวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่สำคัญตามภารกิจ บทบาทหน้าที่ของกองทัพเรือ โดยเมื่อทำการฝึกเสร็จสิ้นแล้ว จะทำให้หน่วยงานทุกภาคส่วนและประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า กำลังรบของกองทัพเรือ จะมีความพร้อมในการปกป้องอธิปไตย รักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 585 ครั้ง