ผบ.ทร.ถกประชุม ‘ซิมลีย์’ ครั้งที่ 9 ย้ำหุ้นส่วนภูมิภาค ศรชล.สานพลัง ‘บังคับใช้กฎหมายทางทะเล’ ร่วมกัน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 629 ครั้ง

เมื่อวันที่ 12 ก.ค.66 ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) และหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกา (United States Coast Guard) เป็นเจ้าภาพร่วมจัด “การประชุมนานาชาติระดับผู้บังคับบัญชา ตามกรอบความริเริ่มในการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 9 (9th Southeast Asia Maritime Law Enforcement Initiative (SEAMLEI) Commander’s Forum)” โดย พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะ รองผู้อำนวยการ ศรชล. เป็นผู้แทน ศรชล. พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะเลขาธิการ ศรชล. ให้การต้อนรับ มร. โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และ พลเรือตรี เบรนเดน ซี. แม็คเพอร์ซัน ผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยยามฝั่งและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในทะเลจาก 5 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ ประชุมร่วมกันเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความร่วมมือด้านความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเลในภูมิภาค ณ โรงแรมอนันตรา ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ รีสอร์ท ระหว่างวันที่ 11 – 14 กรกฎาคม 2566

การประชุมนานาชาติระดับผู้บังคับบัญชาตามกรอบความริเริ่มในการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAMLEI ในแต่ละปีจะแบ่งเป็นการประชุมใน 2 ระดับ ได้แก่ การประชุมระดับผู้บังคับบัญชา (Commanders’ Forum) และการประชุมระดับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค (Working Group) โดยเมื่อประชุมระดับคณะทำงานฯ แล้ว จะนำผลการประชุมมาพิจารณาหรือหารือตกลงในระดับผู้บังคับบัญชาต่อไป ปัจจุบัน SEAMLEI มีสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และ ฟิลิปปินส์ โดยประเทศสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนกันรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพร่วมกับสหรัฐฯ โดยในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9

วัตถุประสงค์หลักเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเลร่วมกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหา หรือสิ่งท้าทายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหน่วยยามฝั่งและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในทะเลภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น การปฏิบัติการต่อต้านยาเสพติดการต่อต้านการทำการประมงผิดกฎหมายที่ยังขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ IUU การประเมินภาพสถานการณ์ทางทะเล หรือ MDA และประเด็นความท้าทายทางทะเลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับการประชุมครั้งที่ 9 นี้ เน้นเรื่องการปราบปราบการค้าผิดกฎหมาย ความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายทางทะเลการค้นหาและช่วยเหลือ (SAR) และการตอบสนองต่อมลพิษทางทะเล การทบทวนร่างมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่เกิดเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติร่วมกันของชาติสมาชิก

ศรชล. ให้ความสำคัญและตระหนักเป็นอย่างยิ่งว่า จะทำอย่างไรให้สามารถแปลงความร่วมมือในด้านการบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากเวทีการประชุม SEAMLEI Commanders’ Forum ครั้งที่ 9 นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดผลเชิงประจักษ์ต่อประชาชน ภายใต้ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของ ศรชล. กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และได้หารือถึงประเด็นความมั่นคงทางทะเล เช่น การประมงที่ผิดกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของความร่วมมือระดับภูมิภาคทั้ง ศรชล. และทุกชาติสมาชิกต่างมีบทบาทหลักในความสำเร็จของการประชุม SEAMLEI ระดับผู้บังคับบัญชา ครั้งที่ 9 นี้

กระบวนการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงและปลอดภัยทางทะเล ที่มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาความท้าทายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับหน่วยยามฝั่งและหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในภูมิภาคอาเซียน จะช่วยส่งเสริมให้ ศรชล. ได้พัฒนาความร่วมมือการบังคับใช้กฎหมายในทะเลระดับภูมิภาค ซึ่งมีความสอดคล้องกับภารกิจ ศรชล. และแผนปฏิบัติราชการ 5 ปี ศรชล. (พ.ศ.2566 – 2570) ภายใต้ภารกิจ ศรชล. ในการตอบโต้สถานการณ์ภัยคุกคามทั้ง 9 ด้าน ประกอบด้วย 1.การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธ 2.การทำการประมง 3.การก่อการร้ายในทะเล 4.การเข้าเมืองผิดกฎหมาย 5.การเกิดอุบัติเหตุและการกู้ภัยทางทะเล 6.การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติภัยทางธรรมชาติ 7.การบังคับใช้แรงงาน แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ในทะเล 8.การลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายเข้าประเทศ และ 9.การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น ยังต้องการแสวงหาความร่วมมือที่เข้มแข็งในทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง และผลการประชุมที่ได้จากการประชุม SEAMLEI ระดับผู้บังคับบัญชา ครั้งที่ 9 จะมีส่วนผลักดันที่มีประสิทธิภาพในการสร้างขีดความสามารถด้านการบังคับใช้กฎหมายทางทะเล และส่งเสริมภาคเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันและสร้างความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันทั่วทั้งภูมิภาคนี้

ศรชล. เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศชาติและประชาชน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 629 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน