ปธ.ศาลฎีกา แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบาย “รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน”

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 660 ครั้ง

เมื่อวันที่ 22 ก.ย.66 ที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ อาคารสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ ประธานศาลฎีกา คนที่ 48 แถลงสรุปผลการดำเนินงานภายใต้นโยบาย รักศาล ร่วมใจ รับใช้ประชาชน ในวาระดำรงตำแหน่ง นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึงเดือนกันยายน 2566 

นายโชติวัฒน์ กล่าวว่า นับตั้งแต่มาดำรงตำแหน่ง ได้วางแผนดำเนินการและเร่งขับเคลื่อนนโยบายให้สำเร็จตามเป้าหมาย มุ่งเน้นการสร้างความสามัคคี ความร่วมมือร่วมใจระหว่างบุคลากรศาลยุติธรรมเพื่อร่วมกันอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป้าหมายสูงสุดคือการ รับใช้ประชาชน ให้สามารถเข้าถึงการบริการของศาลยุติธรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเท่าเทียมกัน โดยการดำเนินตามนโยบายทั้ง 3 ด้าน ปรากฏผลดังนี้

1. รักศาล ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา ได้ออกตรวจเยี่ยมศาลและหน่วยงานในสังกัดศาลยุติธรรมทั่วประเทศ เพื่อรับฟังปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน รวมทั้งติดตามให้คำแนะนำและวางแนวทางในการบริหารจัดการคดี โดยเลือกลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศาลยุติธรรมในภาค 9 เป็นลำดับแรก เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และเป็นพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานให้แก่บุคลากร จากนั้นได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจนครบทุกภาค จึงได้เห็นถึงการพัฒนาระบบงานของศาลยุติธรรม และความเปลี่ยนแปลงด้านการบริหารจัดการคดี ซึ่งเมื่อพิจารณาอัตราคดีแล้วเสร็จและการบริหารจัดการคดีที่ค้างพิจารณาเกินเกณฑ์มาตรฐานแล้วพบว่าอัตราแล้วเสร็จของคดีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยศาลที่สามารถบริหารจัดการคดีอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ที่เรียกว่าศาลสีเขียวนั้น จากเดิมสถิติวันที่ 1 ตุลาคม 2565 มีจำนวน 79 ศาล จนเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 146 ศาล และภายในปีงบประมาณนี้มีอีกหลายศาลที่มีแนวโน้มเป็นศาลสีเขียวได้ ส่วนกลุ่มศาลที่มีแนวโน้มจะกลับเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐาน หรือศาลสีเหลือง เดิมมีจำนวน 25 ศาล ก็เพิ่มขึ้นเป็น 48 ศาล

สำหรับกลุ่มศาลที่มีคดีค้างพิจารณาเกินเกณฑ์มาตรฐานที่ต้องเร่งดำเนินการและติดตามกำกับดูแล หรือศาลสีแดง เดิมมี 171 ศาล ขณะนี้จำนวนลดลงเหลือ 81 ศาล และเมื่อติดตามอัตราคดีแล้วเสร็จ ปรากฏข้อมูลว่าระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ศาลชั้นต้นทั่วประเทศดำเนินการได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยสามารถพิจารณาคดีแล้วเสร็จถึงร้อยละ 85.03 ของคดีที่ค้างมาและรับใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งการบริหารจัดการคดีที่มีประสิทธิภาพนี้ ส่งผลให้คดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้วเสร็จไปโดยไม่ล่าช้า และประชาชนผู้มีอรรถคดีได้รับการคุ้มครองเยียวยาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอย่างรวดเร็ว ขณะที่การมุ่งเสริมสร้างประสิทธิภาพงานของศาลยุติธรรม เราพร้อมพัฒนาบุคลากรผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษา ทุนฝึกอบรมต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ให้แก่ข้าราชการตุลาการศาลยุติธรรมและข้าราชการศาลยุติธรรม เพื่อเพิ่มพูนทักษะ ความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงาน ตลอดจนจัดโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและระบบการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมต่าง ๆ ขณะที่ชมรมคู่สมรสตุลาการศาลยุติธรรมยังมอบทุนการศึกษาแก่บุตรของข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างในหน่วยงานสังกัดศาลยุติธรรมด้วย

2. ร่วมใจ ในโอกาสที่ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศาล ประธานศาลฎีกาเน้นย้ำเสมอถึงการร่วมโครงการจัดประกวดคัดเลือกศาลดีเด่นเพื่อประชาชน โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้บุคลากรมีความตื่นตัวในการทำงาน ให้ศาลทุกแห่งทั่วประเทศมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม รวดเร็ว โปร่งใส มีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ โดยได้รับความร่วมมืออย่างดีจากศาลทั่วประเทศ มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน และปรับปรุงการให้บริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โครงการนี้จึงนับได้ว่าส่งเสริมให้บุคลากรมีเป้าหมายในการทำงานเพิ่มขึ้น และเป็นการแข่งขันที่ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือ ประชาชน นอกจากเป้าหมายการร่วมใจพัฒนาศักยภาพการทำงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนแล้ว การเพิ่มประสิทธิภาพของการพิจารณาคดีก็เป็นข้อสำคัญต่อการอำนวยความยุติธรรมภายใต้ความรวดเร็ว เป็นธรรม ทั่วถึง และมีมาตรฐานเดียวกัน ประธานศาลฎีกาจึงได้ออกข้อบังคับ ข้อกำหนด ระเบียบ รองรับการบังคับใช้กฎหมายใหม่ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา ดังนี้

ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2566 เป็นการกำหนดวิธีพิจารณาของศาลให้สอดรับกับหลักการตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 เพื่อปกป้องสังคมจากผู้กระทำความผิดที่มีแนวโน้มจะก่ออาชญากรรมในรูปแบบเดียวกันหรือรูปแบบใกล้เคียงกันซ้ำอีก โดยมุ่งฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำความผิดควบคู่ไปกับการคุ้มครองและเคารพในสิทธิของบุคคลดังกล่าวอย่างเหมาะสม ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลยุติธรรม พ.ศ. 2566 เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จในการพิจารณาในเรื่องขั้นตอนต่าง ๆ โดยประชาชนสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้โดยง่าย และทราบถึงเหตุแห่งความล่าช้าในการดำเนินการ ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด สามารถตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมได้

ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีความผิดทางพินัย พ.ศ. 2566 เพื่อกำหนดหลักการในการดำเนินคดีความผิดทางพินัยในชั้นศาล โดยคำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องจนเกินสมควร รวมถึงการคุ้มครองและแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีที่พิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์ในศาลชั้นต้น พ.ศ. 2566 เพื่อให้การบริหารจัดการคดีและการประสานงานกับคู่ความในคดีที่พิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นไปโดยรวดเร็ว เรียบร้อย และเป็นแนวทางเดียวกัน

3. รับใช้ประชาชน ปัจจุบันศาลยุติธรรมได้ปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อใช้สนับสนุนการปฏิบัติงาน และนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาให้บริการทางคดีในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แก่คู่ความในคดี และประชาชนในการติดต่อราชการศาล ดังนี้การจัดทำโครงการเชื่อมโยงข้อมูลคดีบุคคลล้มละลายของศาลล้มละลายกลางกับศาลยุติธรรมทั่วประเทศ ดำเนินการภายใต้นโยบายร่วมใจระหว่างศาล ซึ่งเกิดประโยชน์ต่อการบริการด้านคดีและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนด้วย โดยพัฒนาระบบการสืบค้นข้อมูลบุคคลล้มละลายผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม หรือซีออส (CIOS) ซึ่งช่วยลดขั้นตอนการดำเนินคดี โดยหากพบว่าจำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ผู้ฟ้องคดีจะได้ใช้สิทธิตามกฎหมายในช่องทางที่เหมาะสมต่อไป พัฒนาระบบยื่นคำคู่ความและเอกสารในคดีแรงงานผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม เพื่อให้บริการประชาชนในการยื่นฟ้องคดีแรงงานสำหรับบุคคลผู้เป็นลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม และมีความประสงค์จะยื่นฟ้องนายจ้าง ซึ่งระบบดังกล่าวพัฒนาบนพื้นฐานของฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form) เต็มรูปแบบที่เปิดให้คู่ความสามารถกรอกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โดยสามารถยื่นฟ้องได้เองผ่านระบบ CIOS พัฒนาระบบยื่นคำร้องขอจัดการมรดกและตั้งผู้จัดการมรดกทางระบบ e-Filing สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดก ให้สามารถยื่นคำร้องขอจัดการมรดกได้ด้วยตนเอง ใน 2 กรณี คือ กรณีทายาททุกคนยินยอมให้ผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการมรดก (ไม่มีการคัดค้าน) และกรณีที่มีข้อกำหนดในพินัยกรรมให้ผู้ร้องนั้นเป็นผู้จัดการมรดก

การพัฒนาระบบจัดทำหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด และหมายบังคับคดีในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติ โดยเปิดให้ประชาชนหรือคู่ความสามารถยื่นขอหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดและหมายบังคับคดีในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Filing ซึ่งสิ่งพิมพ์ที่ออกจากระบบจะอยู่ในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้การรับรองตามกฎหมาย และสามารถนำไปยื่นเพื่อติดต่อทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดทำระบบตรวจสอบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ออกของสำนักงานศาลยุติธรรม โดยสามารถตรวจสอบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์และสิ่งพิมพ์ได้ผ่านทางเว็บไซต์ https://validation.coj.go.th/ ซึ่งเป็นการรองรับระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ และรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้พัฒนาระบบสารสนเทศสำนวนคดีศาลชั้นต้นระยะ 3 (CIMS3) เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงานของผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ในศาลยุติธรรม ซึ่งระบบดังกล่าวจะทำการจัดเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติคดี ระยะเวลาการพิจารณาพิพากษาคดี ตลอดจนสร้างฐานข้อมูลคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของทุกศาลทั่วประเทศ เพื่อมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการบริหารจัดการคดีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชน

การพัฒนาระบบยื่นคำคู่ความและเอกสารในคดีความผิดทางพินัยผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม เพื่อรองรับการยื่นฟ้องคดีความผิดทางพินัยจากสำนักงานอัยการสูงสุด โดยพนักงานอัยการสามารถยื่นคำฟ้องและเอกสารในคดีความผิดทางพินัยผ่านระบบ e-Filing ได้ ซึ่งจะช่วยให้การยื่นฟ้องและการพิจารณาพิพากษาคดีมีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ประธานศาลฎีกา ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและบริการของศาลยุติธรรม ด้วยการจัด โครงการ Justice by Design : กระบวนการยุติธรรมที่ทุกคนออกแบบได้ และ โครงการ e-Hearing Design Lab : ร่วมออกแบบกระบวนการบันทึกคำเบิกความพยานด้วยภาพและเสียงที่เป็นมิตรกับทุกคน โดยให้ประชาชนผู้ใช้บริการเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นผู้ออกแบบบริการศาลยุติธรรมด้วยตนเอง อันจะทำให้การบริการของศาลยุติธรรมตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และสร้างประสบการณ์ที่ดีในการใช้บริการศาลยุติธรรมให้แก่ประชาชนได้อย่างแท้จริง ซึ่งสำนักงานศาลยุติธรรมกำลังนำแนวคิด ข้อเสนอแนะของประชาชนมาปรับใช้และพัฒนาให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พร้อมสนับสนุนให้ศาลในภูมิภาคต่าง ๆ ได้ศึกษาและนำแนวคิดการออกแบบนวัตกรรมของประชาชนไปปรับใช้ผ่านการประกวดศาลดีเด่นอีกด้วย

จากผลสัมฤทธิ์ภารกิจด้านต่าง ๆ ที่ได้ประจักษ์แจ้งตลอดช่วงปีที่ผ่านมานั้น เห็นได้ว่าศาลยุติธรรมของเราพร้อมขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทุ่มเทในการทำงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม เสมอภาค และทั่วถึง ด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพของศาลยุติธรรมและนโยบายที่ถือความต้องการของประชาชนผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 660 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน