กองทัพเรือ – ศรชล. ผนึกกำลัง จับกุมเรือประมงอินโดนีเซีย ลักลอบทำการประมงในน่านน้ำไทย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 447 ครั้ง

พล.ร.ต.วีรุดม ม่วงจีน โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการทัพเรือภาคที่ 3 (ศปก.ทรภ.3) ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 3 (ศรชล.ภาค 3) จับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย ทำประมงในน่านน้ำไทย โดยเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 เวลา 08.30 น. ศปก.ทรภ.3 ได้รับแจ้งข่าวจากแหล่งข่าวในพื้นที่ พบเห็นเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำ เข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย ระยะ 46 ไมล์ทะเล ทางทิศตะวันตกของแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต จึงได้สั่งการให้เครื่องบินลาดตระเวนแบบดอร์เนีย (DO-228) จาก ทรภ.3 ขึ้นบินลาดตระเวนตรวจสอบข้อมูลตามที่ได้รับแจ้ง

ในส่วนของ ศรชล.ภาค3 ได้แจ้งให้ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดภูเก็ตแจ้งไปยังศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (ศูนย์ PIPO) ภูเก็ต แจ้งเรือประมงไทยที่ทำการประมงในพื้นที่เฝ้าสังเกตการณ์และติดตามพฤติกรรมของกลุ่มเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียทั้ง 3 ลำ ซึ่งผลการบินสำรวจ ได้ตรวจพบเรือประมง สัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 1 ลำ ระยะ 55.6 ไมล์ทะเล จากแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งอยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย ศรชล.ภาค 3 จึงได้สั่งการให้ เรือหลวงแกลง ออกเรือเพื่อเข้าตรวจสอบและจับกุมเรือประมงสัญชาติอินโดนีเซียในบริเวณดังกล่าว จนกระทั่งในเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 ตุลาคม 2566 เมื่อเรือหลวงแกลง ได้ตรวจพบเรือประมง สัญชาติอินโดนีเซีย จำนวน 3 ลำลักลอบทำการประมงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย ประกอบด้วย เรือ KM.RAHMATJAYA พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ จำนวน 12 คน , เรือ KM.IKHLASBARU พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ จำนวน 16 คน และ เรือ KAMBIASTAR พร้อมลูกเรือรวมไต๋เรือ จำนวน 12 คน

จากนั้น เรือหลวงแกลง จึงได้ควบคุมเรือประมงอินโดนีเซียทั้ง 3 ลำ พร้อมลูกเรือ จำนวนรวม 40 นาย เดินทางไปยังท่าเรือรัษฎา ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อเตรียมส่งมอบให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรฉลอง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไปโดยเรือหลวงแกลงได้นำเรือเทียบเข้าท่าเรือรัษฎา เมื่อเวลาประมาณ 08.30 น. ของวันที่ 9 ตุลาคม 2566 ในการนี้ ศรชล.ภาค 3 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรฉลอง ตำรวจน้ำ ประมงจังหวัดภูเก็ต และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมารับตัวผู้กระทำผิดเพื่อเตรียมดำเนินคดีทางกฎหมาย

ทั้งนี้ ศรชล.ภาค 3 จะประสานการดำเนินการทางกฎหมาย กับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ฉลอง อย่างใกล้ชิด ซึ่ง อำนาจหน้าที่ของ ศรชล. เป็นการดำเนินการตาม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิการประมงไทยในเขตประมงไทย พ.ศ.2482 ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารเรือ โดย ผบ.เรือ/ผค.เรือ สามารถจับกุมได้ในฐานความผิดเป็นผู้ควบคุมเรือใช้เรือสัญชาติต่างประเทศทำการประมงในเขตประมงไทย และฐานทำการประมงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า สำหรับการจับกุมหรือประมงทั้ง 3 ลำในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กองทัพเรือ โดย ทรภ.3 ศรชล. และเครือข่ายเรือประมงไทย โดยการปฏิบัติการ สืบเนื่องจากการเข้ามาลักลอบทำการประมงของเรือต่างชาติ ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย

ทั้งนี้ การจับกุมเรือประมงต่างชาติ ที่มีพฤติกรรมเข้ามาทำการประมงบริเวณเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทยด้านฝั่งทะเลอันดามัน ที่ผ่านมานั้น ได้มีการจับกุมมาแล้วหลายครั้ง โดยฝ่ายไทย ได้เคยประสานฝ่ายอินโดนีเซีย แจ้งเตือนเรือประมงของประเทศอินโดนีเซีย มิให้รุกล้ำเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติของฝ่ายไทยครั้งนี้ เป็นการดำเนินการภายใต้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ และไม่มีการใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด โดยการปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจที่สำคัญของกองทัพเรือ โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้ทำการจับกุม จำนวน 1 ครั้ง ในปีงบประมาณ 2565 ได้ทำการจับกุม จำนวน 3 ครั้ง และในปีงบประมาณ 2566 ได้ทำการจับกุม จำนวน 2 ครั้ง ซึ่งการลักลอบเข้ามาทำการประมงของเรือประมงต่างชาติ นั้นเป็นการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ (สัตว์น้ำ) ในพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ชาวประมงไทย ทำการจับสัตว์น้ำได้น้อยลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคประมงโดยตรง นอกจากนี้แล้วเรือประมงต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำการประมง บางครั้งมีการลักลอบขโมยหรือตัดทำลายอุปกรณ์ดักจับสัตว์น้ำของชาวประมงไทยที่ได้วางไว้ด้วย

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการจับกุมเรือประมงต่างชาติข้างต้นนั้น เป็นไปตามนโยบายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ของ พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะ รองผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ที่ได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงาน มีการบูรณาการร่วมกัน ในการป้องกันและปรามปรามการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ทรัพยากรทางทะเลไทยมีความอุดมสมบูรณ์ เกิดความมั่นคง ยั่งยืนและสามารถแสวงหาประโยชน์ได้ตลอดไป

ทั้งนี้ กองทัพเรือ และ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จะดำเนินการบูรณาการร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางทะเล รวมทั้งภาคประชาชนและภาคเอกชน ในการร่วมกันแก้ปัญหาความเดือดของพี่น้องประชาชน ที่ประสบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกิจการทะเลต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 447 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน