มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 416 ครั้ง
กรมราชทัณฑ์ เผย “7 ข้อเท็จจริงข้อมูลหลังกำแพงที่อยากให้สังคมรับรู้ เรื่องที่ 3 การสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ” โดยระบุว่า กรมราชทัณฑ์ ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดบริการ การบริหารจัดการและพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมและกำจัดโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข รวมถึงการเฝ้าระวังด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม สุขาภิบาลอาหารและน้ำในเรือนจำ โดยกรมราชทัณฑ์ ให้การดูแลรักษาสุขภาพของผู้ต้องขัง ตามหลักสิทธิมนุษยชน หลักวิชาการและมาตรฐานวิชาชีพด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ
โดยเรือนจำทุกแห่งมีสถานพยาบาลเรือนจำ เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ให้บริการทางด้านสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ภายใต้การสนับสนุนบริการจากโรงพยาบาลแม่ข่าย ซึ่งเป็นหน่วยบริการประจำในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพ มีพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้ให้บริการประจำในสถานพยาบาล ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยบริการหลักเพียงแห่งเดียวในเรือนจำ ที่ผู้ต้องขังทุกรายต้องมาเข้ารับบริการทาง ด้านสาธารณสุข ทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันภัยสุขภาพ การรักษาโรค รวมถึงการฟื้นฟูสุขภาพกายและสุขภาพจิต หากมีผู้ต้องขังป่วยที่เจ็บป่วยเกินขีดความสามารถของพยาบาล จะมีทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลแม่ข่ายเข้าให้บริการตรวจรักษาภายในเรือนจำ หรือดำเนินการส่งต่อผู้ต้องขังป่วยไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำนั้น ๆ
เรือนจำมีเจ้าหน้าที่พยาบาลวิชาชีพ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ที่คอยให้การดูแลสุขภาพและช่วยเหลือในเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ ข้อมูลจากการให้บริการสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จากสถานพยาบาลเรือนจำทั่วประเทศ พบว่า
ผู้ต้องขังเข้ารับบริการที่สถานพยาบาล จำนวน 1,318,794 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่พยาบาลจะเป็นผู้ให้การรักษาโรคเบื้องต้น
ผู้ต้องขังได้รับการส่งออกไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลแม่ข่าย (ไป-กลับ) จำนวน 55,262 ครั้ง
ผู้ต้องขังที่โรงพยาบาลแม่ข่ายรับตัวให้นอนรักษาที่โรงพยาบาล (Admit) จำนวน 9,844 ครั้ง
และสถิติโรคที่พบผู้ต้องขังในเรือนจำป่วยมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 โรคระบบทางเดินหายใจ
อันดับที่ 2 โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ
อันดับที่ 3 โรคระบบทางเดินอาหาร
อันดับที่ 4 โรคระบบผิวหนัง
อันดับที่ 5 โรคระบบประสาทและสมอง
อันดับที่ 6 โรคระบบไหลเวียนโลหิตและโรคเลือด
อันดับที่ 7 โรคระบบต่อมไร้ท่อและโภชนาการ
อันดับที่ 8 โรคทางจิตเวช
อันดับที่ 9 โรคติดเชื้อ
อันดับที่ 10 โรคระบบตา
ทั้งนี้ หากผู้ต้องขังป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยโรคติดต่อระยะแพร่เชื้อ หรือโรคเรื้อรังรุนแรง เจ้าหน้าที่พยาบาลจะมีการแนะนำการดูแลตนเอง การรับประทานยา และส่งข้อมูลการรักษาไปให้กับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม กรมราชทัณฑ์มุ่งหวังพัฒนาระบบสาธารณสุขเรือนจำให้ได้มาตรฐาน สามารถให้การดูแลสุขภาพผู้ต้องขังทุกคน หากแต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของเรือนจำ ซึ่งผู้ต้องขังป่วยบางส่วนมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลเฉพาะโรคหรือเฉพาะทาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังระยะสุดท้าย ฯลฯ ซึ่งเป็นความท้าทายของกรมราชทัณฑ์ในดูแลกลุ่มผู้ต้องขังเหล่านี้ ให้ได้รับการดูแลตามสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งมีโอกาสได้รับกำลังใจจากครอบครัว หรือคนที่รัก ในวาระสุดท้ายของชีวิต
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 416 ครั้ง