มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 348 ครั้ง
ศาลยุติธรรม MOU กรมการปกครอง เพิ่มประสิทธิภาพการประสานงาน ขยายเครือข่ายผู้กำกับดูแลการประกันตัว ใช้ข้อมูลเฝ้าระวังป้องกันทำผิดซ้ำ พัฒนาการคุ้มครองสิทธิบนหลักเท่าเทียมตามนโยบายประธานศาลฎีกา
วันนี้ (29 พ.ย.66) ที่ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 12 อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และ นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง ร่วมพิธีแลกเปลี่ยนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่าง สำนักงานศาลยุติธรรม กับ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พัฒนาระบบประเมินความเสี่ยงเพื่อการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวและการใช้มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของศาลยุติธรรม
โดยนายเผ่าพันธ์ ชอบน้ำตาล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงและการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการใช้ดุลยพินิจของผู้พิพากษาในการปล่อยชั่วคราวให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้ทำหน้าที่รับรายงานตัว สอดส่องและให้คำปรึกษาแก่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราว เพื่อป้องกันการหลบหนี การก่อภัยอันตรายหรือความเสียหายในระหว่างการปล่อยชั่วคราว อันเป็นการคุ้มครองสังคมและลดความเหลื่อมล้ำจากการเรียกหลักประกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งตามบันทึกข้อตกลงฉบับเดิมที่ได้ลงนามไว้กับกรมการปกครอง เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2561 มีกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือในงานดังกล่าว ทำให้การปล่อยชั่วคราวเป็นไปอย่างมีคุณภาพและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยปัจจุบันศาลยุติธรรมได้เดินหน้านำมาตรการนี้มาใช้อย่างแพร่หลาย
นอกจากนี้ยังมีการประกาศใช้พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ซึ่งศาลอาจต้องใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการกำหนดมาตรการเฝ้าระวัง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายเครือข่ายบุคคลที่จะเข้ามาสนับสนุนให้เพียงพอต่อปริมาณคดี ดังนั้นการจัดทำบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่หน่วยงานทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันโดยให้บุคลากรของฝ่ายปกครอง อาทิ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สารวัตรกำนัน และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน มาให้การช่วยเหลือสนับสนุนในการยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวหรือข้อมูลอื่นใดที่เป็นประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงสำหรับการปล่อยชั่วคราวหรือการใช้มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ รวมทั้งช่วยสอดส่องดูแลและรับรายงานตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ให้ความช่วยเหลือสนับสนุนแก่ศาลยุติธรรมที่ตั้งอยู่คนละท้องที่กับฝ่ายปกครอง และกรมการปกครองจะแจ้งข้อมูลของบุคลากรของฝ่ายปกครองที่เป็นปัจจุบันให้สำนักงานศาลยุติธรรมและศาลยุติธรรมในท้องที่ทราบทุกปี เพื่อให้การประสานงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ซึ่งการพัฒนามาตรฐานการปล่อยชั่วคราวเพื่อประโยชน์สูงสุดในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนนี้ นับเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการเรื่องความ “เท่าเทียม” ตามนโยบายประธานศาลฎีกา
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 348 ครั้ง