“กรมราชทัณฑ์” แจงออกระเบียบบริหารโทษ-สถานที่คุมขังนอกเรือนจำ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 334 ครั้ง

วันนี้ (12 ธ.ค.66) ตามที่สื่อมวลชน ได้เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง พ.ศ.2566 โดยกล่าวถึงระเบียบดังกล่าวว่าเอื้อต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ นั้น

กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ ถือได้ว่าเป็นองค์กรปลายน้ำที่มีภารกิจสำคัญในการบริหารโทษให้เป็นไปตามคำสั่งศาล โดยมีพระราชบัญญัติราชทัณฑ์เป็นเครื่องมือในการกำหนดบริหารโทษไว้ดังนี้

1. การบังคับโทษโดยวิธีการอื่น (มาตรา 6)

2. การจำคุกในสถานที่คุมขัง (มาตรา 33)

3. การให้ประโยชน์จากการประพฤติตนดี (มาตรา 52) เช่น การเลื่อนชั้น การพักการลงโทษ การลดวันต้องโทษจำคุก เป็นต้น

จากแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด (Treatment of the Offenders) ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่เน้นการควบคุมผู้กระทำผิดควบคู่กับการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด (Rehabilitation) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้กลับตัวปรับปรุงตนเองไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ กรมราชทัณฑ์ จึงมีการปฏิรูปงานราชทัณฑ์ ให้ทันต่อยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง และหนึ่งในภารกิจการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวกับ การจำคุกในสถานที่คุมขัง ซึ่งปัจจุบันเป็นไปตามกฎกระทรวง ว่าด้วยกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 ว่าด้วยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 ได้กำหนดไว้ว่า สถานที่คุมขัง หมายความว่า สถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำซึ่งเป็นสถานที่ของทางราชการหรือ เอกชนที่เจ้าของหรือผู้ปกครองดูแลรักษาสถานที่อนุญาตหรือยินยอมเป็นหนังสือให้ใช้ประโยชน์ในการควบคุมผู้ต้องขัง โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้คุมขังผู้ต้องขังเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่

1. เพื่อการปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง

2. เพื่อการดำเนินการตามระบบพัฒนาพฤตินิสัย

3. เพื่อการรักษาพยาบาล

4. เพื่อการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย

โดยเจตนารมย์ของกฎหมาย เพื่อเป็นการบริหารโทษและบริหารเรือนจำ โดยการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำ เช่น ผู้ต้องโทษระยะสั้น ผู้ต้องขังเจ็บป่วยร้ายแรงใกล้จะถึงแก่ชีวิต ผู้ต้องขังที่มีความพร้อมในการออกไปพัฒนาพฤตินิสัยนอกเรือนจำ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเรือนจำและเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังและการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่คุมขังตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน อาศัยอำนาจตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 กรมราชทัณฑ์ จึงได้ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง พ.ศ.2566 เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ว่าด้วยกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 มาตรา 33 ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการที่อยู่ภายใต้กฎหมายกำหนดไว้ทั้งสิ้น

ซึ่งการนำตัวนักโทษไปคุมขังไว้ในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ แต่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์และไม่ใช่เป็นการกำหนดประโยชน์ให้กับนักโทษ และในขณะใช้มาตรการ จะต้องอยู่ในสถานที่ที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ ถ้าทำผิดเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนและส่งตัวกลับเข้าเรือนจำทันที

นอกจากนี้ ประกอบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 กระทรวงยุติธรรมได้รายงานคณะรัฐมนตรี ถึงผลดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม.กรณีปัญหาในการดำเนินงานด้านกระบวนการยุติธรรมที่พบจากการดำเนินโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือนจำ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดประชุมกับผู้เกี่ยวข้องและเห็นว่า การกำหนดสถานที่สำหรับการควบคุมผู้ต้องขัง แต่ละประเภทให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดสถานที่อื่นเพื่อการควบคุมตัวนอกเหนือจากการควบคุมตัวในเรือนจำเป็นหลักการที่ดี และจะต้องบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การกำหนดสถานที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล จึงมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี กสม.ได้มีหนังสือเน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 25 ก.พ.65 โดยเน้นย้ำให้กรมราชทัณฑ์กำหนดสถานที่อื่นเพื่อการควบคุมตัวนอกเหนือจากการควบคุมตัวในเรือนจำ เพื่อแก้ไขปัญหาการแออัดของเรือนจำ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 334 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน