มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 180 ครั้ง
“อลงกรณ์” ลุยแดนมังกรดึงจีนลงทุน 10 อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต หวังเป็นเครื่องยนต์ (new growth engine) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน อดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคนที่ 1 และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รับเชิญให้กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมBRI (Belt and Road Innitiative) industrial investment International summit forum 2024 ที่เซินเจิ้น โดยกล่าวว่า โลกผันผวนและเปลี่ยนแปลงทุกมิติอย่างรวดเร็วมีทั้งโอกาสและภัยคุกคาม เราต้องออกแบบอนาคตและนวัตกรรม (Innovating the Future) การลงทุนใหม่ๆ ประการสำคัญคือการมีหุ้นส่วน (partnership) ที่ดีเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ขอให้เชื่อมั่นว่าโอกาสมีอยู่ทุกหนแห่ง (Possibility is everywhere)
นายอลงกรณ์ ได้ยกตัวอย่างความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวตลอด 49 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูต ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจเปิดกว้างและเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ แต่ก็สามารถฝ่าฟันผ่านพ้นมาได้ จนประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้าและผู้ลงทุนอันดับ 1 ของประเทศไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวจีนก็มาไทยมากที่สุด โดยเฉพาะ 10 ปี แห่งความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค RCEP ล่าสุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความเป็นหุ้นส่วน (partnership) บนผลประโยชน์และความสำเร็จร่วมกัน
“อุตสาหกรรมใหม่คือโอกาสใหม่ ๆ ของทุกประเทศของทุกบริษัทและนักลงทุนทุกคน จึงขอเชิญชวนมาลงทุนทั้งในตลาดทุน (Capital Investment) และตลาด FDI (Foreign Direct Investment) ในประเทศไทย โดยเฉพาะระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาค รวมทั้งอุตสาหกรรมใหม่ (first S-Curveและ New S-Curve) 10 สาขา ซึ่งมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นพิเศษของรัฐบาลไทยภายใต้ BCG โมเดล และเป้าหมายลดโลกร้อนของการประชุม COP 28 ได้แก่
1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive) เช่นยานยนต์ไฟฟ้า
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)
4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)
5) อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Food for the Future)
และอุตสาหกรรมอนาคตใหม่ (New S-curve) อีก 5 สาขา
1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics) และ AI
2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
4) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital)
5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
ซึ่งเป็นรูปแบบการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยจะเป็นหัวใจหลักของกลไกใหม่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (New Growth Engines)
นายอลงกรณ์ ยังได้หารือระหว่าง Lunch meeting กับผู้บริหารบริษัทลงทุนยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ซึ่งทุกบริษัทตอบรับอย่างกระตือรือร้นที่จะมาลงทุนในประเทศไทยทั้งอุตสาหกรรมใหม่และตลาดทุนของไทย
สำหรับการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน และมีสมาคมการค้าไทย-จีนและเศรษฐกิจเอเชีย โดยนางสาวอภิญญา ปราโมช นายกสมาคมฯ นางสาวประจงจิต พลายเวช รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์สมาคมฯ และ นายเมฆินทร์ เอี่ยมสะอาด จากมูลนิธิสถาบันพลังงานทางเลือกแห่งประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมด้วย โดยจัดที่โรงแรมเชอราตัน-เซิ่นเจิ้น เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 180 ครั้ง