“พาณิชย์” เผยคอนเทนต์สายวายจากไทย โดนใจไต้หวัน คนสนใจเพียบ หลังนำเข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือนานาชาติไทเป 

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 268 ครั้ง

“ภูมิธรรม” เผยคอนเทนต์ LGBTQ+ จากไทยมาแรงในไต้หวัน หลังพาณิชย์นำเข้าร่วมงานมหกรรมหนังสือนานาชาติไทเป ผู้ประกอบการภาพยนตร์-ซีรีส์-สตรีมมิ่ง-แพลตฟอร์มออนไลน์-สำนักพิมพ์ เข้ามาเจรจาธุรกิจเพียบ

วันนี้ (9 มี.ค.67) เวลา 08.30 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ ทำการค้าเชิงรุกตามนโยบายรัฐบาลในการ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสให้กับพี่น้องประชาชน ล่าสุดได้รับรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) ได้จับมือกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยรัฐ (PUBAT) ร่วมกันนำหนังสือไทยไปร่วมจัดแสดงในงานมหกรรมหนังสือนานาชาติไทเป หรือ Taipei International Book Exhibition (TIBE) ซึ่งปรากฏว่าผู้ประกอบการต่างชาติหลายประเทศมีความต้องการคอนเทนต์สายวายของไทยในระดับสูงมาก มีการนำหนังสือของสำนักพิมพ์ไทย 23 ราย และหนังสือที่ถูกคัดเลือกมาจัดแสดงรวมประมาณ 350 เล่ม

ทูตพาณิชย์ รายงานว่า กิจกรรม Pitching และเจรจาจับคู่ธุรกิจของคูหาไทยภายในงาน มีผู้ประกอบการไต้หวันและต่างชาติให้ความสนใจมาเข้าร่วม เช่น แพลตฟอร์ม LGBTQ+ สตรีมมิ่งออนไลน์ ขนาดใหญ่ในเอเชีย และสถานีโทรทัศน์รายใหญ่ของไต้หวัน แพลตฟอร์ม การ์ตูนออนไลน์รายใหญ่ของญี่ปุ่น รวมถึงสำนักพิมพ์รายใหญ่ของไต้หวัน และอีกหลายประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี แคนาดาและสหรัฐฯ เป็นต้น ร่วมกิจกรรมเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการต่างชาติหลายประเทศมีความต้องการ คอนเทนต์ด้าน LGBTQ+ ของไทยในระดับสูงมาก ผู้ประกอบการไทยที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของหนังสือและภาพยนตร์ ซีรีส์ จึงควรสร้างความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในการร่วมพัฒนาและส่งออกซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปสู่ตลาดโลกอย่างแข็งแกร่ง ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ ได้มีการจับมือกับผู้ผลิตซีรีส์วายของไทย อาทิ บริษัท บี ออน คลาวด์ จำกัด และ บริษัทไอดอลแฟคทอรี่ จำกัด เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มยอดขายให้กับสินค้าชุมชนของไทยเข้าไปอยู่ในซีรีส์ระดับโลก

ทั้งนี้ ในการจัดงานมีกิจกรรมไฮไลต์ เช่น การจัดเสวนาระหว่างนักเขียนชื่อดังของไทย คือ คุณนริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ลูกชายในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีน ซึ่งคว้ารางวัลใหญ่อย่างซีไรท์ได้ตั้งแต่งานเขียนเรื่องแรกของเจ้าตัว คุณวีรพร นิติประภา เจ้าของรางวัลซีไรท์ 2 สมัย คุณจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท นักเขียนรางวัลซีไรท์ที่อายุน้อยที่สุด มาพูดคุยกับเหล่านักอ่านไต้หวันเกี่ยวกับเรื่องราวของความขัดแย้งทางวัฒนธรรมในครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนในเวทีกลางที่เป็นเวทีใหญ่ของงาน และมีการเสวนาเกี่ยวกับนิยาย Y ของไทย และการพัฒนาของกฎหมายความเท่าเทียมของสถานภาพทางเพศในประเทศไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดความสนใจของคนเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงความนิยมและให้ความสนใจ Content ด้าน LGBTQ+ จากประเทศไทย โดยมี Jittirain ซึ่งเป็นนักเขียนนิยายสายวาย ที่มีผลงานขายดีที่สุดของไทย และมีผลงานหลายเรื่องถูกแปลเป็นภาษาจีนเพื่อวางจำหน่ายในไต้หวันแล้ว แพทริค รังสิมันต์ คุณหมอนักเขียนนิยายสายวายที่มีผลงานถูกแปลไปต่างประเทศมากมายรวมถึงในไต้หวันด้วย รวมถึง จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุทร เจ้าของนามปากกา ร เรือในมหาสมุทร ซึ่งมีนิยายวายที่ได้รับการดัดแปลงเป็นซีรี่ย์แล้วเช่นกัน มาร่วมสนทนา อีกทั้งยังมีการเสวนาของคุณสะอาด นักเขียนการ์ตูนชื่อดังของไทย ที่คว้ารางวัลมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน กับคุณคำหอม ศรีนอก นักแปลชื่อดังของไทย โดยได้รับกระแสตอบรับจากเหล่านักอ่านไต้หวันเป็นอย่างดีมาก มีผู้สนใจเข้าร่วมอย่างล้นหลามทุกกิจกรรม

กระทรวงพาณิชย์ เล็งเห็นโอกาสทางการค้าผ่านการนำเรื่องราว อัตลักษณ์ของไทยมาดัดแปลงใส่ในเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสื่อสิ่งพิมพ์ของไทย จึงได้จัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจสำหรับเหล่าสำนักพิมพ์ นักเขียนอิสระ โดยได้รับความร่วมมือจาก Taiwan Creative Contents Agency ทำให้มีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน โดยเฉพาะกลุ่ม Producer ภาพยนตร์ ซีรี่ย์ มาเข้าร่วมรับฟังและเจรจาธุรกิจกันอย่างคับคั่งมากกว่า 40 ราย พร้อมทั้งมีการจับคู่เจรจาธุรกิจมากกว่า 62 คู่ในช่วงกิจกรรมด้วย

ทั้งนี้งาน TIBE 2024 มีสำนักพิมพ์เข้าร่วมจัดแสดง 509 รายจาก 34 ประเทศ/พื้นที่ทั่วโลก และมีผู้เข้าชมงานรวมมากกว่า 550,000 คน ส่วนการเข้าร่วมจัดแสดงของคูหาไทยในงาน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีกิจกรรมที่น่าสนใจตลอดงาน ได้รับความสนใจจากนักอ่านและสื่อมวลชนของไต้หวันสูงมาก โดยมีสื่อในไต้หวันรายงานข่าวของคูหาไทยกันอย่างคึกคัก และได้รับความสนใจในวงกว้าง อีกทั้ง ความเปิดกว้างและเสรีภาพทางความคิดของไต้หวัน ทำให้งานนี้เป็นแพลตฟอร์มสำคัญสำหรับการซื้อขายลิขสิทธิ์เพื่อเข้าถึงตลาดสากล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ภาษาจีน และเป็นงานหนังสือในต่างประเทศที่มีศักยภาพสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 268 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน