มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 596 ครั้ง
สภาการศึกษาเปิดเวทีถกพันธมิตรทางการศึกษานานาชาติ ระดมสมองเตรียมความพร้อมขยับคะแนน PISA ยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทย รมว.ศธ. มั่นใจผลประเมิน ปี 2025 สูงขึ้นแน่นอน
วันที่ 26 มี.ค.67 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “โครงการการปรับปรุงคุณภาพและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการศึกษา ในหัวข้อการใช้ PISA ในทางปฏิบัติ : พลังของข้อมูลเพื่อการปรับปรุงการศึกษา – การเชื่อมโยงผลจาก PISA กับการปฏิรูประบบการศึกษา” พร้อมพันธมิตรทางการศึกษา โดยมี Mr. Andreas Schleicher ผอ.ฝ่ายการศึกษาและทักษะ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา, ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา, Ms. Kyungsun Kim ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประจำประเทศไทย, Mr. Yorihisa Oneda (First Secretary of the Permanent Delegation of Japan to the OECD) และผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก OECD ที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับผลการทดสอบ PISA มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนจากองค์กรหลัก และผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบ PISA ทุกภาคส่วน รวมทั้งสิ้น 20 หน่วยงาน ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพฯ
พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ผลการทดสอบ PISA 2023 ที่ผ่านมา ปรากฏว่า สมรรถนะการเรียนรู้ของเด็กไทยถดถอยกว่าช่วงที่ผ่านมา มี 2 ประเด็นที่สะท้อนให้เห็น คือ 1 เราเตรียมความพร้อมผู้เรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับประถมศึกษาได้พร้อมหรือไม่ และ 2 ผู้เรียนที่ผ่านการทดสอบในแต่ละช่วงจะมีความพร้อมเพียงใดในการเข้าสู่ระดับอุดมศึกษา หรือตลาดแรงงาน ในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ส่งผลถึงสมรรถนะในการแข่งขันของประเทศ จึงอยากให้ช่วยกันคิดและค้นหาสาเหตุร่วมกันว่า เหตุใดเด็กไทยจึงมีสมรรถนะการเรียนรู้ที่แตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกัน ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค
ในครั้งนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา องค์การโออีซีดี และองค์การยูนิเซฟ จัดเวทีเชิงนโยบายประชุมเชิงปฏิบัติการ และมีหน่วยงานภาคีด้านการศึกษาร่วมสนับสนุน ขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ตระหนักถึงวาระแห่งชาติ ในด้านความสามารถในการอ่าน คำนวณ และวิเคราะห์ของผู้เรียนไทย ว่าด้วยการยกระดับความสามารถของผู้เรียนไทยที่จบจากการศึกษาภาคบังคับ โดยใช้มาตรฐานสากลในการวิเคราะห์สัมฤทธิ์ผลในการเรียนรู้ โดยเฉพาะการเข้าร่วมโครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ซึ่งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นผู้ดำเนินการ ภายใต้คณะกรรมการ PISA แห่งชาติ พร้อมชี้ว่า การสร้างไม้บรรทัดวัดสมรรถนะเด็กไทยบนเวทีระดับโลกเป็นงานยาก ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะพ่อ แม่ผู้ปกครอง ครู โรงเรียน และที่สำคัญที่สุด คือ ผู้เรียน ในการสะท้อนสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้จากโรงเรียนและสังคมเมื่อจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
ซึ่งการประชุมหารือครั้งนี้ได้นำข้อมูล ข้อค้นพบจากทุกภาคส่วน มาคิดวิเคราะห์ร่วมกัน ปรับเปลี่ยน เชื่อว่าผลจากการระดมความคิด จะก่อให้เกิดแนวทางการยกระดับมาตรฐานการศึกษาของไทย หรือการสร้างประสิทธิภาพทางการศึกษาอย่างเข้มข้น พร้อมมั่นใจผลการประเมิน PISA ของนักเรียนในปี 2025 คะแนนจะดีมากขึ้นอย่างแน่นอน
ด้าน ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ระบุว่า การประเมิน PISA จะเน้นสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการประเมินสำคัญที่ประเทศไทยให้ความสนใจ กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มีการลงนามความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษากับองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาแนวคิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลทางการศึกษาและผลการประเมินทางการศึกษาในระดับนานาชาติมาใช้ในการวางแผนและกำหนดนโยบายทางการศึกษาของประเทศ ซึ่งวันนี้หลาย ๆ ประเทศที่ประสบความสำเร็จได้ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในอดีตเคยประสบปัญหาอย่างเด็กไทยแต่สามารถพัฒนาการคุณภาพการศึกษาได้อย่างไร การประชุมครั้งนี้ได้เชิญหน่วยงานจัดการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ PISA มาประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน และยกระดับคะแนน PISA ของประเทศให้สูงขึ้นกว่าปีก่อน ๆ ที่ผ่านมาได้ โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาจะเป็นเจ้าภาพหลักจัดทำแผนระดับ 3 ด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการศึกษาของประเทศไทยให้มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 596 ครั้ง