มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 216 ครั้ง
ซินเจนทา ประเทศไทย เปิดศูนย์เซนทริโก (CENTRIGO) ให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางทางเกษตรกรรม พร้อมนำเสนอโซลูชันแบบ end-to-end รวบรวมพันธมิตรชั้นนำจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในประเทศไทยมาช่วยให้ความรู้กับเกษตรกรตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อให้เกษตรกรสามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ในการเพิ่มผลผลิตและทำกำไรได้สูงขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่นและการส่งออกของประเทศได้ โดยเครือข่ายความรู้และบริการของเซนทริโกจะช่วยให้เกษตรกรไทยเข้าถึงโซลูชันทางการเกษตร เทคโนโลยี และวิธีทำการเกษตรแบบยั่งยืน สามารถเป็นผู้ประกอบการที่เป็นผู้นำด้านการเกษตรสมัยใหม่ในประเทศไทย ซึ่งศูนย์เซนทริโกจะทำการจัดหาปัจจัยการผลิต การป้องกันศัตรูพืช การใช้โดรน และเทคโนโลยีทางการเกษตรที่หลากหลาย มาให้ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์และผ่านทางศูนย์เซนทริโกโดยตรง พร้อมเปิดให้บริการแก่เกษตรกรไทยแห่งแรก ที่ตำบลหัวเรือ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 23 เมษายน 2567
นายอเล็คซานเดอร์ เบอร์คอฟสกี้ ผู้อำนวยการบริหารภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซินเจนทา กรุ๊ป กล่าวว่า “เซนทริโกจะช่วยแก้ปัญหาสำคัญของเกษตรกรแบบครบวงจร ด้วยการนำเสนอโซลูชันทางการเกษตรแบบองค์รวม เรามีทีมผู้เชี่ยวชาญที่มุ่งมั่นในการให้คำแนะนำแก่กลุ่มเกษตรกรตลอดกระบวนการเพาะปลูก เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและกำไรให้มากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและวิธีการเกษตรแบบยั่งยืน เรามุ่งหวังที่จะยกระดับรายได้ของเกษตรกร สนับสนุนการพัฒนาของกลุ่มอุตสาหกรรมและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร โดยซินเจนได้ร่วมกับพันธมิตรผู้รับซื้อและส่งออกพริกของจังหวัดอุบลราชธานี และพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อช่วยให้พี่น้องเกษตรกรในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพราะการปลูกพริกของที่นี่ส่วนใหญ่จะถูกส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรามั่นใจว่าผลิตภัณฑ์และบริการของเราไม่เพียงแค่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรผู้เพาะปลูกหรือชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี และประเทศไทย แต่ยังมีความสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาที่ท้าทายระดับโลกอีกด้วย”
“นอกจากนี้เราจะขยายขอบเขตการเข้าถึงภาคเกษตรกรรมต่าง ๆ โดยให้การสนับสนุนเกษตรกรในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เช่น การใช้โดรนเพื่อการเกษตร ซึ่งสาขาอุบลราชธานีแห่งใหม่นี้จะมีทีมงานมืออาชีพที่มีประสบการณ์คอยทุ่มเทให้การสนับสนุนความรู้ด้านพืชไร่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี และการบริการลูกค้าที่ยอดเยี่ยม เซนทริโกจะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของซินเจนทาเพื่อการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืน การเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกร รวมถึงการพัฒนาชุมชน ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางการเกษตรอย่างแท้จริง” นายอเล็คซานเดอร์ กล่าวเสริม
นางสาวกล้วยไม้ นุชนิยม กรรมการผู้จัดการ ประจำประเทศไทย บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด กล่าวว่า “เราเลือกจังหวัดอุบลราชธานีเป็นที่ตั้งศูนย์ฯ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในการปลูกพืชเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย ซึ่งต่อจากนี้ซินเจนทาพร้อมกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ เตรียมพร้อมผนึกกำลังเพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายทางการเกษตร โดยให้การสนับสนุนแก่เกษตรกรในท้องถิ่นในเรื่องของการใช้โดรน และเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่”
“ด้วยการสนับสนุนจากเซนทริโก เกษตรกรไทยสามารถพัฒนาศักยภาพในการผลิตอาหารที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดและผู้บริโภค สร้างความมั่นคงด้านอาหารของประเทศไทยให้เข้มแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยเครือข่ายความรู้และบริการที่พร้อมใช้งานเรามั่นใจว่าเกษตรกรในระบบเซนทริโกจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับภาคเกษตรกรรมของประเทศไทย” นางสาวกล้วยไม้ กล่าวเสริม
นายสิทธิพล เลาหะวนิช เจ้าของธุรกิจโรงคัดแยกพริกนายน้อย หัวเรือ เครือข่ายเกษตรผู้ปลูกและผู้รับซื้อ ส่งออกพริกรายใหญ่ของพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า “พริกบ้านหัวเรือของเราเป็นที่นิยมอย่างมาก นอกจากจะส่งขายไปทั่วประเทศแล้วยังส่งออกไปต่างประเทศด้วย โดยพริกหัวเรือส่งออกทุกวันประมาณวันละ 10 ตัน หรือ 10,000 กิโลกรัม เราจึงมีเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกพริกในตำบลหัวเรือนี้ จำนวนมากกว่า 3,000 ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกร ชาวบ้านในชุมชน เพราะปลูกครั้งเดียวแต่เก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี แต่การปลูกพริกให้ได้ผลผลิตดีมีคุณภาพ เราต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปลูกรวมถึงการดูแลพริกให้มีขนาดใหญ่ สีสด มีความเผ็ด หอม เพื่อให้พริกได้ราคาดีเป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งซินเจนทาได้มาเปิดศูนย์เซนทริโกที่นี่นับว่าเป็นโอกาสที่ดีในการให้พี่น้องเกษตรกรและชุมชนได้รับความรู้ที่หลากหลายทางการเกษตร ทั้งเรื่องการใช้โดรน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเข้ามาช่วยในการเพิ่มผลผลิตและกำไรให้กับกลุ่มพี่น้องเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน”
โดยในเอเชีย ซินเจนทาได้เปิดดำเนินการศูนย์เซนทริโกแล้วในบังคลาเทศ อินโดนีเซีย อินเดีย และปากีสถาน ซึ่งปัจจุบันนี้ เกษตรกรไทยสามารถใช้บริการที่ศูนย์ฯได้โดยตรง หรือเข้าถึงคำแนะนำในการเกษตรผ่านแอปพลิเคชันครอปไวซ์ โกรเวอร์ (Cropwise Grower) ของซินเจนทา จะได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่นกัน
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 216 ครั้ง