ผบ.ทร. อำนวยการฝึกปัญหาที่บังคับการ ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2567

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 332 ครั้ง

เมื่อวันที่ 25 เม.ย.67 พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะ ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ อำนวยการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ในการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2567 ด้วยตนเอง โดยมี พล.ร.อ.วรวุธ  พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ (เสธ.ทร.) ในฐานะเสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ตลอดจนผู้บังคับบัญชาระดับสูงของศูนย์ปฏิบัติการกองกองทัพเรือ รวมถึงกำลังพลจากฝ่ายต่าง ๆ ของศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ และหน่วยขึ้นตรงกองทัพเรือ เข้าร่วมการฝึก ณ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ ภายในกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม

กองทัพเรือ ได้จัดให้มีการฝึกกองทัพเรือประจำปีมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำรงความพร้อมของหน่วยต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศ โดยในปีนี้ใช้วงรอบการฝึก 1 ปี และใช้สถานการณ์ฝึกป้องกันประเทศด้านใต้ซึ่งจะทำการทดสอบกระบวนการวางแผนทางทหาร ตามสถานการณ์ที่ถูกกำหนดขึ้น

สำหรับการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2567 นี้ มีพื้นที่การฝึกทั้งในทะเลและบนบก โดยแบ่งการฝึกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) มีวัตถุประสงค์ เพื่อฝึกการควบคุมบังคับบัญชา และทดสอบแนวความคิดในการใช้กำลังและหลักนิยมต่าง ๆ ของหน่วยบังคับบัญชาในระดับต่าง ๆ และ 2. การฝึกภาคสนาม/ภาคทะเล (Field Training Exercise : FTX) ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติการของหน่วยกำลังรบประเภทต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยและประสบการณ์ให้กับกำลังพล รวมทั้งเป็นการทดสอบขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่าง ๆ อาทิ การคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเล การโจมตีกำลังทางเรือของฝ่ายตรงข้าม การปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก และการป้องกันฝั่ง ซึ่งกำลังทางเรือต้องฝึกการปฏิบัติทางยุทธวิธีตามสาขาปฏิบัติการต่าง ๆ ได้แก่ การปราบเรือดำน้ำ การต่อต้านเรือผิวน้ำ การป้องกันภัยทางอากาศ การปฏิบัติการพิเศษ การยกพลขึ้นบก รวมทั้งปฏิบัติการข่าวสารและสงครามไซเบอร์ โดยในครั้งนี้จะมีการฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถี พื้น – สู่ – พื้น แบบ Harpoon Block 1C ในทะเลอ่าวไทย และการฝึกปฏิบัติการร่วมระหว่างเรือและอากาศยาน อีกด้วย

นอกจากนั้น ยังมีการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การยิงอาวุธประจำหน่วย และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง ของกำลังภาคพื้นดิน ทั้งกำลังจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง รวมทั้งกองทัพบก และกองทัพอากาศที่ได้จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในครั้งนี้ด้วย ในขณะเดียวกัน ได้มีการฝึกด้านการส่งกำลังบำรุง (Logistics Exercise: LOGEX) เพื่อทดสอบขีดความสามารถด้านการส่งกำลังบำรุงและการปฏิบัติของหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ พร้อมกันไปด้วย และที่สำคัญ คือ การฝึกในครั้งนี้ ได้มีการเชิญ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กองทัพบก และกองทัพอากาศ จัดกำลังเข้าร่วมการฝึกในหัวข้อการฝึกต่าง ๆ อีกด้วย

โดยก่อนหน้านี้ กองทัพเรือ ได้จัดให้มีการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) เพื่อเตรียมความพร้อมและเสริมสร้างขีดความสามารถกำลังพล และยุทโธปกรณ์ อันจะทำให้กองทัพเรือสามารถดำรงบทบาทในฐานะหน่วยงานความมั่นคง และรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกองทัพเรือได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่เกิดจากธรรมชาติที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือการซักซ้อมและเตรียมการรับมือในช่วงสภาวะปกติ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และพัฒนาขีดความสามารถของกำลังพลให้มีความพร้อมในการดำรงภารกิจป้องกันประเทศ และรักษาความมั่นคงทางทะเล ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือได้เน้นย้ำให้หน่วยต่าง ๆ ดำรงการฝึกตามวลีที่ว่า “รบอย่างไรฝึกอย่างนั้น” เพื่อให้เกิดความชำนาญ และความพร้อมในการรักษาอธิปไตยในน่านน้ำไทย

ในส่วนของการฝึกปัญหาที่บังคับการ (CPX) ที่ได้จัดให้มีการฝึกในครั้งนี้ เป็นการฝึกทดสอบกระบวนการวางแผนและการตัดสินใจตามกระบวนการวางแผนทางทหาร การทดสอบการอำนวยการยุทธ์ตามคำสั่งยุทธการในระดับกองทัพเรือ หน่วยเตรียมกำลัง หน่วยใช้กำลัง หน่วยสนับสนุน และ กองกำลังเฉพาะกิจ ในขั้นสถานการณ์ปกติจนถึงขั้นความขัดแย้งระดับต่ำ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการจัดทำคำสั่งยุทธการเพื่อนำไปใช้ในการอำนวยการยุทธ์ โดย มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องอาทิการป้องกันฐานทัพเรือและการควบคุมเรือ การปฏิบัติการข่าวสาร การส่งกำลังบำรุง การปฏิบัติการสงครามไซเบอร์และการบังคับใช้กฎหมายในทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกการปฏิบัติการของ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เพื่อสร้างแนวทางที่ชัดเจนด้านการสนธิกำลัง ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล อาทิ แนวความคิดในการควบคุมเส้นทางเรือพาณิชย์

ทั้งนี้ ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2567 นั้น นอกจากกำลังพลที่เข้าร่วมการฝึกจะได้รับความรู้ ความชำนาญเพิ่มขึ้นจากการฝึกแล้ว ยังทำให้กองทัพเรือได้รับทราบถึงขีดความสามารถและข้อจำกัดของกำลังทางเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งการปฏิบัติการร่วมกันกับ ศรชล. และ เหล่าทัพ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาขีดความสามารถสำหรับการปฏิบัติภารกิจ โดยเฉพาะในการป้องกันประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยขีดความสามารถของกำลังทางเรือที่เตรียมไว้สำหรับการทำสงคราม ยังสามารถนำมาใช้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติ และการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ ในยามปกติได้อีกด้วย

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 332 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน