“ราชทัณฑ์”ห่วงใยออก 8 มาตราการคลายร้อนผู้ต้องขัง

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 426 ครั้ง

กรมราชทัณฑ์ รายงานว่า นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นในปัจจุบันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของประชาชนทั่วไป รวมถึงการใช้ชีวิตของผู้ต้องขังภายในเรือนจำ

กรมราชทัณฑ์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาในเรื่องนี้ และให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของผู้ต้องขังภายในเรือนจำมาโดยตลอด จึงได้กำหนดมาตรการและแนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมผู้ต้องขัง เพื่อรองรับสภาพอากาศที่ยังคงร้อนอย่างต่อเนื่อง

โดยสภาวการณ์ดังกล่าว กรมราชทัณฑ์ จึงได้ดำเนินการออกมาตรการและแนวทางให้กับเรือนจำและทัณฑสถาน ทั่วประเทศถือปฏิบัติ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้ต้องขัง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการควบคุมและการใช้ชีวิตภายในเรือนจำและทัณฑสถาน ดังนี้

1. จัดเก็บน้ำที่มีความสะอาดไว้ให้เพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคของผู้ต้องขัง ทั้งในช่วงเวลากลางวันและกลางคืน รวมถึงการประสานหน่วยงานต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้าเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที

2. กำหนดจำนวนผู้ต้องขังในแต่ละห้องให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด

3. เอาใจใส่ดูแลสุขภาพอนามัยของผู้ต้องขังเป็นพิเศษ โดยระมัดระวังโรคระบาดที่เกี่ยวกับทางเดินอาหาร และโรคผิวหนัง พร้อมจัดเตรียมเจ้าหน้าที่พยาบาลหรืออาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำให้ความรู้ในการสุขอนามัยของตนเอง

4. จัดสภาพห้องนอน โรงงานฝึกวิชาชีพ อาคารสถานที่ ให้มีอากาศที่ถ่ายเท พร้อมติดตั้งพัดลมอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

5. กำชับเจ้าหน้าที่เพิ่มความระมัดระวังในการควบคุม สอดส่องดูแลอย่างเคร่งครัด

6. เพิ่มความระมัดระวังเกี่ยวกับการเกิดอัคคีภัย ตรวจสอบอาคารสถานที่ สายไฟฟ้า จัดเก็บวัสดุต่าง ๆ มิให้เป็นเชื้อไฟ ตลอดจนอุปกรณ์ระงับเหตุไฟไหม้ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน อีกทั้งอุปกรณ์ระงับเหตุร้ายต่าง ๆ ต้องอยู่ในสภาพใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7. ระมัดระวังเรื่องการออกกำลังกาย การฝึกแถวให้คำนึงถึงสภาพอากาศเป็นสำคัญ

8. พิจารณาขยายระยะเวลาขึ้นเรือนนอนให้ช้าลงกว่าเดิม

กรมราชทัณฑ์ ยังคงออกแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้การควบคุมดูแลผู้ต้องขังมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงสุขภาพร่างกายและความปลอดภัยของผู้ต้องขังเป็นสำคัญ ซึ่งแม้ผู้ต้องขังจะขาดอิสรภาพแต่จะไม่ขาดสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามหลักสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด  

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 426 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน