มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 668 ครั้ง
ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจการเตรียมความพร้อมขบวนเรือราชพิธี ในส่วนของ การฝึกฝีพาย และการซ่อมทำเรือพระที่นั่ง
นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตรวจการเตรียมความพร้อม ขบวนเรือพระราชพิธีในส่วนของ การฝึกฝีพาย และการซ่อมทำเรือพระที่นั่ง และเรือรูปสัตว์ จำนวน 8 ลำ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนนายกรัฐมนตรีเดินทางมาตรวจเยี่ยม โดยมี พล.ร.ท.วิจิตร ตันประภา รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกำลังพล ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี (ประธาน คตร.) ให้การต้อนรับ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร และ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ
กองทัพเรือ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งได้มีการเตรียมการด้านการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย และการซ่อมบำรุงเรือ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนอื่น ๆ เพื่อให้การจัดงานในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ
ในส่วนของการซ่อมบำรุงเรือพระราชพิธี นั้น อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ได้ดำเนินการสำรวจ และซ่อมทำเรือพระที่นั่ง และเรือรูปสัตว์ ตั้งแต่ ธันวาคม 2566 โดยได้นำเรือพระที่นั่งรูปสัตว์ รวมถึงเรือในขบวนเรือพระราชพิธีลำอื่น ๆ มาซ่อมบำรุง ด้วยวิธีศิลปะภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน การตอกหมันเรือ ซึ่งนำด้ายดิบมาตอกเข้าไป บริเวณร่องระหว่างไม้กระดานเรือให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำซึมเข้าเรือ จากนั้นจึงได้ชันยาเรือผสมกับน้ำมันยางยาแนวในร่องและทาทั่วทั้งบริเวณนอกลำเรือเพื่อป้องกันเพรียงกินไม้ที่จะทำให้เรือผุเร็ว ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จึงทำการส่งมอบให้ กรมศิลปากร เพื่อดำเนินการประดับตกแต่งตัวเรือตามแผนปฏิบัติงานการจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค พ.ศ.2567 ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งจำนวน 4 ลำ คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์ เรือรูปสัตว์จำนวน 10 ลำประกอบด้วย เรือเอกชัยเหินหาว เรือเอกชัยหลาวทอง เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือพาลีล้างทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี
สำหรับการดำเนินการในส่วนของกรมศิลปากร จะเป็นการตกแต่งรายละเอียด เช่น วาดลวดลาย ติดกระจกเกรียบกระจกสีทำจากแร่ดีบุก ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 86 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 30 พฤษภาคม 2567 โดยหลังจากนั้น จะมีการอัญเชิญเรือพระที่นั่งลงน้ำเพื่อเตรียมการในส่วนของการ ฝึกซ้อมฝีพายต่อไป
ในส่วนของการฝึกซ้อมฝีพายเรือพระราชพิธีนั้น กองทัพเรือโดยคณะกรรมการเตรียมการจัดขบวนพยุหะยาตราทางชลมารคได้ดำเนินการจัดการฝึกซ้อมฝีพาย ประกอบด้วย การฝึกครูฝึกฝีพาย ระหว่าง 12 กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2567 รวม 20 วันงาน และ การฝึกฝีพายบนเขียง ระหว่าง 18 มีนาคม – 16 พฤษภาคม 2567 รวม 40 วันงาน โดยจะทำการแยกฝึกตามหน่วยต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่สัตหีบ การฝึกฝีพายในหน่วยในเรือในน้ำ ระหว่าง 28 พฤษภาคม – 30 กรกฎาคม 2567 รวม 40 วันงาน ก่อนที่จะมีการฝึกจัดรูปกระบวนในแม่น้ำเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการซ้อมย่อยและซ้อมใหญ่ในโอกาสต่อไป
การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในครั้งนี้ใช้เรือ พระราชพิธี จำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร โดยใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น 2,200 นาย และงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กำหนดจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 668 ครั้ง