นายกฯ ตรวจความก้าวหน้าการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 388 ครั้ง

นายกรัฐมนตรี ตรวจความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อม การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหารในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ณ กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ตรวจความก้าวหน้าการเตรียมความพร้อม การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในการพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรวิหารในวันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม 2567 ประกอบด้วย การซ่อมทำเรือพระที่นั่งและเรือรูปสัตว์ การฝึกกำลังพลฝีพายเรือพระราชพิธี พร้อมทั้งให้โอวาท โดยมี พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร และ พล.ร.ท.วิจิตร ตันประภา รองเสนาธิการทหารเรือ/ประธานคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี ร่วมให้การต้อนรับ ณ แผนกเรือราชพิธี กองเรือเล็ก กรมการขนส่งทหารเรือ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี กรมศิลปากร

นายกฯ กล่าวให้โอวาทว่า ยินดีที่ได้มาพบกับกำลังพลทุกคนในวันนี้ พระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ด้วยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคมีความสำคัญ และหน้าที่ที่ทุกท่านได้รับผิดชอบเป็นการร่วมแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้กำลังพลทุกคนภาคภูมิใจ และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้การจัดพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ด้วยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นไปอย่างสมพระเกียรติสูงสุด

กองทัพเรือ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้จัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 การพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งได้มีการเตรียมการด้านการฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย และการซ่อมบำรุงเรือ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในส่วนอื่น ๆ เพื่อให้การจัดงานในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ

ในส่วนของการฝึกซ้อมฝีพายเรือพระราชพิธีนั้น กองทัพเรือโดยคณะกรรมการเตรียมการจัดขบวนพยุหะยาตราทางชลมารคได้ดำเนินการจัดการฝึกซ้อมฝีพาย ประกอบด้วย การฝึกครูฝึกฝีพาย ระหว่าง 12 กุมภาพันธ์ – มีนาคม 2567 รวม 20 วันงาน และ การฝึกฝีพายบนเขียง ระหว่าง 18 มีนาคม – 16 พฤษภาคม 2567 รวม 40 วันงาน โดยจะทำการแยกฝึกตามหน่วยต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่สัตหีบ การฝึกฝีพายในหน่วยในเรือในน้ำ ระหว่าง 28 พฤษภาคม – 30 กรกฎาคม 2567 รวม 40 วันงาน ก่อนที่จะมีการฝึกจัดรูปกระบวนในแม่น้ำเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการซ้อมย่อยและซ้อมใหญ่ในโอกาสต่อไป

สำหรับการซ่อมบำรุงเรือพระราชพิธี นั้น อู่ทหารเรือธนบุรี กรมอู่ทหารเรือ ได้นำเรือพระที่นั่งรูปสัตว์ รวมถึงเรือในขบวนเรือพระราชพิธีลำอื่น ๆ มาซ่อมบำรุง ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จ จึงทำการส่งมอบให้ กรมศิลปากร เพื่อดำเนินการประดับตกแต่งตัวเรือตามแผนปฏิบัติงานการจัดขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค พ.ศ.2567 โดยการดำเนินการในส่วนของกรมศิลปากร จะเป็นการตกแต่งรายละเอียด เช่น วาดลวดลาย ติดกระจกเกรียบกระจกสีทำจากแร่ดีบุก ซึ่งอยู่ในความดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ก่อนจะมีการอัญเชิญเรือพระที่นั่งลงน้ำ เพื่อเตรียมการในส่วนของการฝึกซ้อมฝีพายต่อไป

นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 27 – 29 กรกฎาคม 2567 กองทัพเรือ ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญเรือพระที่นั่ง จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช จัดแสดงแบบผูกทุ่น ประกอบกาพย์เห่เรือเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมทั้งจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ณ บริเวณท่าราชวรดิฐ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ ใช้เรือพระราชพิธี จำนวนทั้งสิ้น 52 ลำ จัดขบวนเป็น 5 ริ้ว ความยาว 1,200 เมตร กว้าง 90 เมตร โดยใช้กำลังพลประจำเรือในขบวนเรือพระราชพิธี รวมทั้งสิ้น 2,200 นาย และงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กำหนดจัดให้มีขึ้นในวันที่ 27 ตุลาคม 2567

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 388 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน