“กิตติรัตน์-ผู้ช่วย ผบ.ทร.” ร่วมประชุมแก้ปัญหาหนี้สินกำลังพลกองทัพเรือ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 486 ครั้ง

กองทัพเรือ ขานรับนโยบายของรัฐบาล และเร่งขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับกำลังพลรองรับนโยบายแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรภาครัฐและประชาชนรายย่อย

วันนี้ (16 ก.ค.67) ที่ห้องสุพรรณหงส์ อาคารส่วนบัญชาการกองทัพเรือ พื้นที่วังนันทอุทยาน เขตบางกอกน้อย กทม. พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ (ผช.ผบ.ทร.) เป็นผู้แทน ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้การต้อนรับและร่วมหารือกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี/ประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย และคณะ ในโอกาสเดินทางมาติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพลของกองทัพเรือ

สำหรับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับบุคลากรภาครัฐและประชาชนรายย่อย ได้กำหนดแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.) ให้ส่วนราชการกำหนดหลักเกณฑ์การหักเงินเดือนเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และ 2.) ให้สหกรณ์ออมทรัพย์พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้เหลือไม่เกิน ร้อยละ 4.75 ขยายระยะเวลาในการผ่อนชำระได้ถึงอายุ 75 ปี และสามารถผ่อนชำระคืนเฉพาะส่วนที่เกินทุนเรือนหุ้น ซึ่งนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ รัฐบาลได้กำหนดให้ทุกส่วนราชการนำไปใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน และได้ประสานขอความร่วมมือไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์ ธนาคาร และสถาบันทางการเงินต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการของทุกภาคส่วนเป็นไปอย่างมีระบบและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในส่วนของกองทัพเรือ โดยคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพลของกองทัพเรือ นั้น ได้ทำการศึกษาและตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า ในปัจจุบันมีกำลังพลของกองทัพเรือที่รับเงินเดือนน้อยกว่าร้อยละ 30 มีจำนวนทั้งสิ้น 10,709 นาย หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของจำนวนกำลังพลทั้งหมด 46,563 นาย จึงได้นำนโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาหนี้สินมาสู่การปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับ 2 แนวทางหลัก ประกอบด้วย

แนวทางการป้องกันปัญหาหนี้สินกำลังพล (Preventive Measures) มีการปฏิบัติที่สำคัญ ดังนี้

1.) ออกระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการหักเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนพนักงานราชการ เพื่อชำระเงินให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการ สหกรณ์และสถาบันการเงิน รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การจัดลำดับรายการที่หักจากเงินเดือน

2.) จัดทำหมายเหตุในใบรับเงินเดือนเพื่อแจ้งเตือนสถาบันการเงินต่าง ๆ กรณีที่กำลังพลมีรายรับสุทธิต่ำกว่าร้อยละ 30 ขอกู้เงิน เพื่อให้สถาบันการเงินต่าง ๆ พิจารณาอย่างรอบคอบก่อนการปล่อยกู้เงิน

3.) การพิจารณาก่อนการรับรองให้กู้เงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ให้นำหลักเกณฑ์หลังจากการตัดเงินกู้แล้ว กำลังพลต้องมีรายรับสุทธิต่อเดือนคงเหลืออย่างน้อยร้อยละ 30

4.) การให้ความรู้ทางการเงินแก่กำลังพล เช่น การออม การลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) การบริหารจัดการทางการเงินให้เกิดประสิทธิภาพ และโครงการที่ให้การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้สิน เป็นต้น

5.) การดำเนินโครงการลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ เช่น การจัดรถรับ – ส่งกำลังพล การจัดงานขายสินค้าราคาประหยัด และกิจกรรมส่งเสริมอาชีพต่าง ๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนด แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพล (Corrective Measures) ที่สำคัญ ดังนี้

1.) กำหนดให้หน่วยต้นสังกัดของกำลังพลทำหน้าที่เป็นที่เป็นคลีนิคปรึกษาการแก้ไขปัญหาหนี้สินเบื้องต้น และหากเกินขีดความสามารถของหน่วยให้พิจารณาเสนอคลินิกให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพล ทร. (สก.ทร.) เพื่อประสานกับสถาบันการเงินภายนอกในการแก้ไขหนี้ รวมทั้งให้คำปรึกษา คำแนะนำด้านกฎหมายและวิธีการแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยมีที่ตั้ง ณ กรมสวัสดิการทหารเรือ รวมทั้งจัดทำเบอร์โทรศัพท์สายด่วนเพื่อให้กำลังพลที่เดือนร้อน สามารถขอคำปรึกษาได้

2.) สนับสนุนให้สหกรณ์ภายในกองทัพเรือมีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิก ที่อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ต่อปี หรือต่ำกว่า รวมทั้งการขยายระยะเวลาชำระหนี้ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของสมาชิกสหกรณ์

3.) การพิจารณากรณีที่กำลังพลที่มีรายรับสุทธิต่อเดือนคงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 หากมีความจำเป็นต้องการกู้เงิน นั้นให้ผู้บังคับบัญชาของหน่วย ตรวจสอบรายได้เสริมอื่น ๆ เช่น การขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง การขายสินค้า/อาหาร เป็นต้น ว่าเพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ ก่อนอนุญาตให้กู้เงินได้ โดยพิจารณาเป็นรายบุคคล เพื่อเป็นการช่วยเหลือกำลังพลที่มีความจำเป็นจริงและเดือนร้อน เพื่อป้องกันมิให้กำลังพลไปกู้เงินนอกระบบ

ในปัจจุบันการป้องกันและแก้ไขปัญหาหนี้สินกำลังพลของกองทัพเรือมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดย ปัจจุบันได้มีการดำเนินการที่สำคัญประกอบด้วย

1.) สหกรณ์ภายในกองทัพเรือ จำนวน 7 แห่ง ได้ออกโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.75 ต่อปี หรือต่ำกว่า รวมทั้งการขยายระยะเวลาชำระหนี้ตามนโยบายรัฐบาลเรียบร้อยแล้ว

2.) กองทัพเรือได้ออกระเบียบกองทัพเรือว่าด้วยการหักเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าตอบแทนพนักงานราชการ การทำหมายเหตุในสลิปเงินเดือน และการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดลำดับรายการที่หักจากเงินเดือนเรียบร้อยแล้ว

3.) ปัจจุบันมีกำลังพลที่รับเงินเดือนน้อยกว่าร้อยละ 30 เข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินกับสหกรณ์ภายในกองทัพเรือ จำนวน 1,255 ราย และเข้าร่วมโครงการกับคลินิกแก้หนี้ จำนวน 315 ราย รวมเป็นจำนวนกำลังพลที่มีความเดือดร้อนและสมัครใจเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,570 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.6 ของจำนวนกำลังพลที่รับเงินเดือนน้อยกว่าร้อยละ 30 ทั้งสิ้น 10,709 ราย โดยกำลังพลในส่วนที่เหลืออีก 9,139 ราย ที่ยังไม่ร่วมโครงการ นั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากหน่วยต้นสังกัด ซึ่งในเบื้องต้นทราบว่ากำลังพลในจำนวนนี้บางส่วนไม่มีความเดือดร้อนเนื่องจากมีรายได้ส่วนอื่นของครอบครัวให้การสนับสนุน และมีรายได้เสริมที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ อย่างไรก็ตามกองทัพเรือจะได้เร่งการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมให้กำลังพลที่มีความเดือดร้อนได้เข้ามาร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป

4.) สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกำลังพลที่เข้าร่วมโครงการผ่านคลินิกแก้หนี้ จำนวน 315 นาย ที่เป็นกำลังพลที่ประสบปัญหาหนี้สินซ้ำซ้อน นั้น ปัจจุบันสามารถแก้ไขปัญหาจบแล้ว จำนวน 199 ราย คาดว่าจะประสบผลสำเร็จ ในระยะเวลาอันใกล้อีกจำนวน 90 ราย และอยู่ระหว่างการรวมหนี้ ประนอมหนี้ และการเจรจากับเจ้าหนี้ อีกจำนวน 26 ราย ซึ่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ต่อไป

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 486 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน