มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 228 ครั้ง
สมาคมพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น เปิดการจัดอบรมให้ความรู้กับมัคคุเทศก์ภาษาญี่ปุ่น เพื่อนำลูกทัวร์เที่ยวเมืองกาญจน์ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมทั้งแนะนำวิธีการบรรยาย เพื่อไม่ให้ลูกทัวร์มีความรู้สึกหดหู่เกินไป
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (26 ก.ค.67) สมาคมพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น (สธทญ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยสยาม และ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดการอบรมให้ความรู้กับมัคคุเทศก์ภาษาญี่ปุ่น ในการนำลูกทัวร์ท่องเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำของชาวญี่ปุ่น ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมทั้งแนะนำวิธีการบรรยาย เพื่อไม่ให้ลูกทัวร์มีความรู้สึกหดหู่เกินไป โดยได้รับเกียรติจาก Mr.Tomohito Takata ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น และผู้อำนวยการโครงการภาษาญี่ปุ่นเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม มาเป็นวิทยากรในการอบรม ณ ห้องประชุมชั้น 10 อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสยาม กรุงเทพฯ โดยมี ดร.ณัฐชัย ศรีเอี่ยม หัวหน้าสาขาภาษาญี่ปุ่นเพื่อการสื่อสารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ยาสุมาสะ โมริ ที่ปรึกษาหลักสูตร AJLS และ อาจารย์ รชาดา พรหมบุตร แขกรับเชิญจากมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่มาร่วมเปิดการอบรม ท่ามกลางสมาชิกของสมาคมฯ กว่า 50 คน
โดยคุณกุสุมา นงค์พรหมมา นายกสมาคมพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ในการจัดอบรมครั้งนี้ เป็นการอบรม เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถให้กับมัคคุเทศก์ภาษาญี่ปุ่น ในการนำลูกทัวร์ชาวญี่ปุ่นไปท่องเที่ยวในดินแดนประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมทั้งแนะนำการบรรยายให้ลูกทัวร์ไม่รู้สึกเบื่อ และรู้สึกหดหู่เกินไป ในจุดท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ นอกจากนี้ การอบรมดังกล่าว ทางสมาคมฯ ได้ประสานความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยสยาม และมหาวิทยาลัยศรีปทุม เพื่อต่อยอดพัฒนามัคคุเทศก์ภาษาญี่ปุ่นคนรุ่นใหม่ ขึ้นมาทดแทนมัคคุเทศก์รุ่นพี่ที่เกษียณอายุไป อีกทั้งตลาดการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่น ทั้งในรูปแบบ Inbound และ Outbound ที่มีความต้องการมัคคุเทศก์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทางสมาคมฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดการอบรมขึ้น
ด้าน Mr.Tomohito Takata ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น และผู้อำนวยการโครงการภาษาญี่ปุ่นเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะวิทยากร กล่าวว่า ในการอบรมวันนี้ ตนเองได้นำความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประเทศไทย และญี่ปุ่น โดยเฉพาะมัคคุเทศก์ที่นำคนไทยไปเที่ยวที่เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่สหรัฐฯ วางระเบิดนิวเคลียร์ จึงมีความจำเป็นที่มัคคุเทศก์จะต้องมีความรู้นอกเหนือจากการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต อีกทั้งความต้องการมัคคุเทศก์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งการอบรมจึงเป็นการกระตุ้นให้มัคคุเทศก์เกิดการใฝ่รู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับตนเอง
ขณะที่ ดร.ณัฐชัย ศรีเอี่ยม หัวหน้าสาขาภาษาญี่ปุ่นเพื่อการสื่อสารธุรกิจ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า ตนเองรู้สึกดีใจที่ได้ร่วมการอบรมในครั้งนี้ โดยเนื้อหาของการอบรมนั้นมีประโยชน์ต่อผู้เข้ารับการอบรมเป็นอย่างมาก ซึ่งในส่วนนี้ตนเองจะนำข้อมูลที่ได้รับวันนี้ไปประยุกต์กับการสอนให้ดูน่าสนใจมากขึ้น ด้วยการนำเรื่องประวัติศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น ที่สอดแทรกไปกับเอนิเมชั่น หรือตัวการ์ตูนร่วมสมัยในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อให้นักศึกษารู้สึกอยากเรียนรู้ และศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงการแปลภาษาญี่ปุ่นที่เป็นคำศัพท์เฉพาะให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
เช่นเดียวกับ คุณภัทวีรา ภู่นพคุณ และ คุณจันทิมา แสงทับทิม สมาชิก สธทญ. ผู้เข้าร่วมการอบรม ก็รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ ซึ่งการอบรมดังกล่าวทำให้ได้รู้จักภาษาญี่ปุ่นที่เป็นคำศัพท์เฉพาะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งคู่จะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ไปต่อยอด และพัฒนาการบรรยาย เพื่อสื่อสารกับลูกทัวร์ให้เข้าใจถึงบริบทของคนในยุคสงครามโลก ทั้งก่อน และหลังจากสงครามโลก โดยจะสอดแทรกเนื้อหาทั้งในอดีต และปัจจุบันเข้าไป เพื่อไม่ให้ลูกทัวร์รู้สึกเบื่อ
ทั้งนี้ นายก สธทญ. ได้กล่าวขอบคุณวิทยากร รวมถึงมหาวิทยาลัยสยาม และมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่ได้ประสานความร่วมมือกันในการอบรมดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ จะประสานความร่วมมือกับทุกมหาวิทยาลัย ที่มีหลักสูตรภาควิชาการท่องเที่ยว เพื่อให้นักศึกษาได้เข้ามาเรียนรู้ และฝึกงานในบริษัททัวร์ ทั้งแบบ Inbound และ Outbound อีกทั้งเป็นการสร้างมัคคุเทศก์ภาษาญี่ปุ่นรุ่นใหม่ ที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาดท่องเที่ยว เพื่อให้อาชีพมัคคุเทศก์ภาษาญี่ปุ่น ยังคงอยู่ในตลาดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 228 ครั้ง