เปิดคุกคลองเปรม! “ราชทัณฑ์” นำสื่อส่องมาตรการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 308 ครั้ง

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ส.ค.67 ที่เรือนจำกลางคลองเปรม แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ และโฆษกประจำกรมราชทัณฑ์ นำสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เข้าศึกษาดูงานการควบคุมดูแลตามมาตรการการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ ตามโครงการ “สื่อมวลชนสัญจร Press Tour เพื่อศึกษาดูงานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศ”

นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า การจัดโครงการดังกล่าว เพื่อศึกษาดูงานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ บทบาท ภารกิจของกรมราชทัณฑ์เกี่ยวกับมาตรการการควบคุมดูแลผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยในครั้งนี้เป็นการเชิญสื่อมวลชนในแขนงต่าง ๆ ได้แก่สถานีโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และออนไลน์ ร่วมเข้าศึกษาดูงาน ภายในแดน 1 เรือนจำกลางคลองเปรม ซึ่งภายในแดนมีผู้ต้องขังทั้งสิ้น จำนวน 1,085 คน โดยเป็นกลุ่มผู้ต้องขังข้ามเพศ จำนวนทั้งสิ้น 64 คน แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 คือ ผู้ต้องขังข้ามเพศที่แปลงเพศโดยสมบูรณ์แล้ว จำนวน 14 คน ประเภทที่ 2 คือ ผู้ต้องขังข้ามเพศที่ยังไม่แปลงเพศแต่ลักษณะทางกายภาพไม่เป็นไปตามเพศกำเนิด เช่น มีการเสริมหน้าอก จำนวน 9 คน และ ประเภทที่ 3 คือ ผู้ต้องขังข้ามเพศที่ยังไม่แปลงเพศและไม่ได้มีลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่พิจารณาแล้วเห็นควรให้มีการแยกขัง เนื่องจากเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ จำนวน 41 คน

นายสหการณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรือนจำได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ (SOPs) โดยยึดถือหลักการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังข้ามเพศโดยไม่เลือกปฏิบัติและจะต้องปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเหล่านี้เช่นเดียวกันกับผู้ต้องขังทั่วไป รวมถึงสิทธิการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันทางกฎหมาย ตลอดจนการพัฒนาพฤตินิสัยที่ผู้ต้องขังจะได้รับทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อาทิ การจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศและความสนใจของผู้ต้องขังข้ามเพศ โปรแกรมและกิจกรรมที่ส่งเสริมการเคารพนับถือตนเอง และการได้รับการเคารพจากผู้อื่น ตลอดจนส่งเสริมกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศให้กับผู้ต้องขังอื่น ๆ เพื่อปลูกฝังค่านิยมเกี่ยวกับการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเพศวิถีและอัตลักษณ์ทางเพศแบบใดก็ตาม และต้องไม่ลืมที่จะคำนึงถึงความปลอดภัย ความเปราะบางและความเป็นส่วนตัวของผู้ต้องขังกลุ่มนี้

นายสหการณ์ กล่าวอีกว่าโดยเรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังที่เป็นผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศรวมทั้งสิ้น 986 ราย แบ่งเป็น ผู้ต้องขังในคดียาเสพติด 700 ราย ผู้ต้องขังในคดีเกี่ยวกับทรัพย์สิน 200 ราย ผู้ต้องขังเกี่ยวกับคดีทางเพศ 28 ราย ผู้ต้องขังเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย 16 ราย ที่เหลือเป็นคดีอื่น ๆ ขณะที่ในเรื่องของทรงผม ผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศที่ได้แปลงเพศแล้วก็สามารถไว้ผมยาวในระดับเดียวกับผู้ต้องขังหญิงได้ (ผมบ็อบสั้น) ส่วนถ้ายังไม่มีการแปลงเพศ ก็จำเป็นต้องไว้ผมตามวิถีเพศกำเนิด

นายสหการณ์ กล่าวต่ออีกว่า กรมราชทัณฑ์ ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุม ดูแล และพัฒนาพฤตินิสัยผู้ก้าวพลาด โดยได้ยึดแนวทางปฏิบัติต่อผู้ต้องขังทุกรายอย่างเท่าเทียมและเหมาะสมตามหลักการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและหลักทัณฑวิทยาโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ก้าวพลาดที่มีความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้เขาเหล่านี้จะได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย ทั้งร่างกายและจิตใจ พร้อมที่จะกลับคืนสู่สังคมได้อย่างปกติสุข และไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก    

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 308 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน