มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 256 ครั้ง
สำนักงานศาลยุติธรรม ชี้แจงเรื่องการพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครสอบคัดเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษา ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 26 (11)
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะทางสื่อสังคมออนไลน์ในทำนองว่า คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมมีมติไม่รับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา เนื่องจากผู้สมัครสอบคัดเลือกมีข้อบกพร่องทางร่างกายนั้น
สำนักงานศาลยุติธรรม ขอชี้แจงว่า กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้สมัครสอบคัดเลือกเป็นผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ผู้สมัครสอบคัดเลือกจึงขอให้เจ้าหน้าที่ช่วยเขียนข้อสอบโดยผู้สมัครสอบคัดเลือกจะเป็นผู้บอกคำตอบให้แก่เจ้าหน้าที่ เพราะผู้สมัครสอบคัดเลือกไม่สามารถใช้มือเพื่อเขียนหนังสือติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงได้ ซึ่งในการพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกนั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (11) กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครสอบคัดเลือกไว้ประการหนึ่งว่าผู้สมัครสอบคัดเลือกต้อง “เป็นผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจ โดยคณะกรรมการแพทย์จำนวนไม่น้อยกว่าสามคน ซึ่ง ก.ต. กำหนด และ ก.ต. ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมการแพทย์แล้วเห็นสมควรรับสมัครได้”
โดยในกรณีนี้ คณะกรรมการแพทย์มีความเห็นว่า ผู้สมัครสอบคัดเลือกมีข้อจำกัดในการเขียนคำตอบข้อสอบที่ต้องใช้การบรรยาย (อัตนัย) โดยต้องมีบุคคลอื่นเขียนคำตอบให้ ทำให้คำตอบนั้นเป็นผลรวมหรือส่วนผสมของความคิดของผู้ให้คำตอบกับความเข้าใจสาระและประเด็นของผู้เขียนคำตอบ อันเป็นการใช้กติกาที่แตกต่างจากผู้เข้าสอบรายอื่น คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมพิจารณารายงานของคณะกรรมการแพทย์ดังกล่าวแล้ว จึงมีมติไม่เห็นสมควรให้รับสมัครสอบคัดเลือกตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 มาตรา 26 (11)
ต่อมา ผู้สมัครสอบคัดเลือกขอให้คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมทบทวนมติดังกล่าว อ้างเหตุว่า ผู้สมัครสอบคัดเลือกสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิได้โต้แย้งรายงานของคณะกรรมการแพทย์ ซึ่งในวันนี้ (วันที่ 15 ตุลาคม 2567) คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมพิจารณาแล้วมีมติไม่เห็นชอบให้ทบทวนมติคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมดังกล่าว เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงประการอื่นที่แตกต่างไปจากรายงานของคณะกรรมการแพทย์ในชั้นต้น
อนึ่ง สำนักงานศาลยุติธรรม ให้ความสำคัญกับการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ โดยการบังคับใช้กฎหมายที่อาจมีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลจะกระทำได้ภายใต้เงื่อนไขของรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 256 ครั้ง