“สุดาวรรณ” ชวนนทท.ร่วมบุญออกพรรษา ชมขบวนแห่ “ต้นกระธูป” สวยที่สุดในโลก และฟ้อนรำถวายเจ้าพ่อพญาแล สุดยิ่งใหญ่อลังการ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 92 ครั้ง

สุดาวรรณ ชวนนักท่องเที่ยวร่วมบุญออกพรรษา ชมขบวนแห่ต้นกระธูปที่สวยที่สุดในโลกและฟ้อนรำถวายเจ้าพ่อพญาแล สุดยิ่งใหญ่อลังการ ที่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ 13 – 16 ตุลาคม 2567 ด้าน วธ.พร้อมยกระดับประเพณีของไทยสู่นานาชาติ โชว์ Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีนโยบายยกระดับเทศกาลประเพณีที่มีศักยภาพและมีความโดดเด่นของจังหวัดในการส่งเสริมให้มีการยกระดับเทศกาลประเพณีในระดับชาติและนานาชาติเพื่อเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้กับประชาชน รวมถึงในปีนี้วธ. มุ่งขับเคลื่อนงานวัฒนธรรมเพื่อเสริมสร้างสังคมเข้มแข็งและสนับสนุนเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน สนับสนุนการบูรณาการความกับทุกภาคส่วนและทุกหน่วยงาน ผลักดันการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยเศรษฐกิจวัฒนธรรม รองรับนโยบายรัฐบาล THACCA (Thailand Creative Content Agency) ขับเคลื่อน Soft Power สร้างเสน่ห์วิถีไทย ครองใจคนทั้งโลก วธ. จึงได้ประกาศการยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยจังหวัดชัยภูมิ ได้รับการคัดเลือกเทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับชาติและนานาชาติ คือ ประเพณีบุญกระธูปออกพรรษา จังหวัดชัยภูมิ ระหว่างวันที่ 13 – 16 ตุลาคม 2567 ณ ที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวอีกว่า การจัดงานประเพณีบุญกระธูปออกพรรษา เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดชัยภูมิ กระทรวงวัฒนธรรม จังหวัดชัยภูมิ และอำเภอหนองบัวแดง จัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โชว์อัตลักษณ์งานบุญกระธูป ประเพณีโดดเด่นของอำเภอหนองบัวแดง ด้วยพิธีเปิดสุดยิ่งใหญ่ ชมขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรม และต้นกระธูปใหญ่ยักษ์ นอกจากนี้กิจกรรมตลอดการจัดงานระหว่างวันที่ 13 -16 ตุลาคม 2567 ประกอบด้วย การรำถวายพระยาภักดีชุมพล จำนวน 1,500 คน การประกวดต้นกระธูปโบราน การแข่งขัน “NBD to be number 1 contest 2024 การประกวดเต้นรำเข้าจังหวะย้อนยุค และการประกวดสวดมนต์หมู่ ทำนองสรภัญญะ และการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากศิลปินชื่อดัง โดยในส่วนของวธ. ร่วมบูรณาการนำกิจกรรมส่งเสริมงานวัฒนธรรมมากมาย ได้แก่ กิจกรรมอบรมพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม อาทิ ต้นกระธูปจิ๋ว ปิ่นปักผม พวงกุญแจ กระเป๋า กิจกรรมถนนสายกระธูป (กระธูปหรรษา) กิจกรรมจัดนิทรรศการองค์ความรู้ประเพณีบุญกระธูป และกิจกรรมรำกระธูปบูชา โดยวิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมา สุดตระการตา

“กระทรวงวัฒนธรรม นับเป็นตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ ดำเนินการขับเคลื่อนและส่งเสริมเทศกาลบุญกระธูปในครั้งนี้ มุ่งหวังให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประชาชนในพื้นที่ มีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงในจังหวัดชัยภูมิ ที่น่าสนใจและเป็นไปในรูปแบบการอนุรักษ์ธรรมชาติ วิถีชีวิตวัฒนธรรมชุมชน ชุมชนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มและความต้องการของตลาดในทุกรูปแบบ ตลอดจนหวังให้เทศกาลประเพณีบุญกระธูปได้รับการยกระดับจากระดับจังหวัดไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวไทยในเชิงมิติวัฒนธรรม ผลักดันให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 ประเทศที่มีอิทธิพลด้าน Soft Power ในมิติวัฒนธรรมต่อไป และขอเชิญเที่ยวงานบุญกระธูปออกพรรษา 13 – 16 ตุลาคม 2567 นี้ ที่อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ งานบุญกระธูปสุดอลังการตระการตา หนึ่งเดียวในโลก ชมขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรม และต้นกระธูปใหญ่ยักษ์ จาก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 9 แห่ง ชมพิธีเปิดและการฟ้อนรำถวายเจ้าพ่อพญาแล สุดยิ่งใหญ่อลังการ แล้วพบกันที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอหนองบัวแดง” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว

ทั้งนี้ ประเพณีนี้เกิดจากภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น จังหวัดชัยภูมิอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในเขตอำเภอหนองบัวแดง ซึ่งมีความเชื่อ ความศรัทธา พิธีกรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมรวมไปถึงการดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก การแห่กระธูปเป็นคติความเชื่อโดยมองว่าเป็นการสร้างความร่มเย็นอันยิ่งใหญ่ใต้ร่มพระพุทธศาสนา โดยต้นกระธูปเป็นสัญลักษณ์แทนต้นหว้า ต้นไม้ประจำชมพูทวีป อันมีบันทึกไว้ในหนังสือฎีกาพระมาลัยสูตรว่าลักษณะของต้นกระธูปมีความยาวประมาณ 50 โยชน์ มีกิ่งใหญ่ 4 กิ่ง แผ่ออกไป 4 ทิศทาง กว้างเป็นมณฑลทั้งได้ 100 โยชน์ อันสื่อความหมายถึง พระพุทธศาสนานี้เป็นที่ร่มเย็นแก่ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเอาต้นกระธูปนี้จุดแล้วย่อมส่งกลิ่นหอมฟุ้งขจรขจายไปยังทิศต่าง ๆ ทำให้เกิดความสุข เป็นคุณค่าทางจิตใจ และเพื่อบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวาระที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ภายหลังจากเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดา

ขั้นตอนการทำต้นกระธูป เริ่มจากเอาขุยมะพร้าวมาผสมกับฝุ่นผงหอมของใบอ้ม ใบเนียม ใบปอสาแล้วห่อด้วยกระดาษเข้ารูปยาวเหมือนธูป นำกระดาษสีมาตัดแปะเป็นลวดลายให้สวยงาม ส่วนใหญ่นิยมแบบลายไทยเช่นเดียวกับลายมัดหมี่ แล้วนำธูปที่ได้มาติดกับดาวที่ทำจากใบลาน มามัดติดกับคันไม้ไผ่ที่มีลักษณะคล้ายคันเบ็ด แล้วเอาไปเสียบไว้กับแกนไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ ความสูงประมาณ 3 – 5 เมตร หรือมากกว่านั้น ขึ้นทรงคล้ายฉัตร พร้อมกับเอาลูกดุมกา ลักษณะคล้ายส้ม แต่มีเปลือกแข็งมาผ่าเป็นสองซีก ใส่น้ำมันพืชลงไปแล้วขวั้นด้ายเป็นรูปตีนกาเพื่อจุดไฟให้แสงสว่างใต้ต้นกระธูป แต่ในระยะหลังเริ่มมีการนำธูปสำเร็จรูปมาใช้แทนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว

ประเพณีแห่บุญกระธูปจัดขึ้นในช่วงออกพรรษา โดยมีความสอดคล้องกับความเป็นมาของประเพณีฮีตสิบสอง ซึ่งถือเอาช่วงก่อนวันออกพรรษา 3 วัน คือ ขึ้น 12 – 15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ก่อนเทศกาลจะเริ่มผู้นำชุมชนร่วมกับชาวบ้านจะจัดทำต้นกระธูปเพื่อจุดถวายพุทธบูชา ต้นกระธูปมีหลากหลายขนาด ขนาดเล็กมีความสูงไม่เกิน 3 เมตร ขนาดใหญ่ มีความสูงไม่เกิน 6 เมตร ภายในงานมีการแห่กระธูป ขบวนนางรำ ธิดากระธูป การแสดงดนตรี การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น การประกวดกระธูปสวยงาม การแสดงพื้นบ้าน และมหรสพสมโภชกลางคืน 

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 92 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน