มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 124 ครั้ง
นายณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานนท์ นายกสภาสมาคมธรรมาภิบาล และ ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลและต่อต้านทุจริต เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยได้มีกฎหมายที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลอยู่ในหลาย ๆ ฉบับ ส่งผลให้การบังคับใช้ หรือ การรับรู้ของประชาชนนั้น ขาดความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แม้จะปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตามแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 64-75, พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562, พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534, พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการธรรมาภิบาลและคณะกรรมการธรรมาภิบาลแห่งจังหวัด พ.ศ. 2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งกฎหมายทั้งหมดมีรายละเอียดในเจตนารมณ์ หลักการและเหตุผล ในการบังคับใช้ที่คาบเกี่ยว ใกล้เคียงกัน ส่งผลในการนำมาบังคับใช้ รวมถึงประชาชนอาจจะเข้าใจในสาระสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับได้ยากขึ้น
นายณัฏฐ์ ธีรณัฐสุภานนท์ กล่าวต่ออีกว่า ตามแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่ปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 นั้นและสอดคล้องกับดัชนีค่าความโปร่งใสของโลก หรือ Corruption Perceptions Index: CPI ของประเทศไทยยังมีลำดับคะแนนซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์ โดยทุกภาคส่วนต่างให้ความสำคัญกับดัชนีค่าความโปร่งใสไปในแนวทางเดียวกันนั้น แต่ปัญหาและอุปสรรคก็คือ เรามีกฎหมายด้านหลักธรรมาภิบาลอยู่หลายฉบับ จึงสมควรที่จะดำเนินการยกร่างขึ้นให้เป็นกฎหมายเฉพาะในด้านหลักธรรมาภิบาลในองค์รวม เป็น พระราชบัญญัติสภาธรรมาภิบาลแห่งชาติ ขึ้นมาบังคับใช้ไปในทิศทางเดียวกัน
นายกสภาสมาคมธรรมาภิบาล และ ประธานมูลนิธิธรรมาภิบาลและต่อต้านทุจริต กล่าวทิ้งท้ายว่า ในส่วนตัวบทพระราชบัญญัติสภาธรรมาภิบาลแห่งชาติปัจจุบันได้ดำเนินการยกร่างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงตรวจสอบรายละเอียดความถูกต้อง พร้อมนำเสนอให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และประธานรัฐสภา เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกลไกทางด้านกฎหมายของรัฐสภา และตามหลักธรรมาภิบาลต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 124 ครั้ง