เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง-เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ผนึก 38 บริษัท ยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างสู่การพัฒนายั่งยืน

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 130 ครั้ง

เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง และ เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ ผนึกกำลัง 38 บริษัทชั้นนำ ตั้งเป้ายกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างให้กรีนตั้งแต่การออกแบบสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในงานประชุมกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (CECI) ประจำปี 2024 ครั้งที่ 2

นายวิโรจน์ รัตนชัยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี สมาร์ทลีฟวิง และประธานกลุ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง (Circular Economy in Construction Industry – CECI) พร้อมบริษัทในเครือข่ายทั้งหมด 38 บริษัท เข้าร่วมการประชุมประจำปี 2024 ครั้งที่ 2 ณ เอสซีจี สำนักงานใหญ่ บางซื่อ เพื่อร่วมหาแนวทางยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างด้วยนวัตกรรมสีเขียว ใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และลดคาร์บอนเพื่อโลกที่ยั่งยืน พร้อมเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาคารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร่วมให้ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบอาคารสีเขียวมุ่งสู่ Net Zero

นายวิโรจน์ กล่าวว่า “เอสซีจี เล็งเห็นความสำคัญของการก่อสร้างที่มุ่งสู่ Net Zero ตามแนวทาง Inclusive Green Growth จึงริเริ่มก่อตั้งกลุ่ม CECI เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และพัฒนาหาแนวทางด้านนี้ ร่วมกับองค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมก่อสร้าง 38 บริษัทมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการพัฒนา Smart Design พร้อม Green Innovation ที่ใส่ใจในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า สร้างการมีส่วนร่วมลดคาร์บอนด้วยนวัตกรรมสีเขียว”

การประชุมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาคารสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ รศ.ดร. ดารณี จารีมิตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาบรรยายเรื่องการออกแบบอาคารไปสู่ Net Zero ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับบทบาทสำคัญของขั้นตอนการออกแบบต่อความยั่งยืนในโครงการก่อสร้าง ปริมาณคาร์บอนแฝงในอาคาร (Embodied Carbon) และแนวทางในการลดคาร์บอนแฝงจากกระบวนการก่อสร้าง รวมทั้งการปรับใช้แนวคิดการออกแบบอาคารที่มุ่งสู่ Net Zero ในระดับเมืองและชุมชน

นอกจากนี้ ดร.วิกรม เหล่าวิสุทธิชัย ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังร่วมให้ความรู้เรื่อง Modular Construction ด้วยการยกตัวอย่างฮ่องกงซึ่งนิยมก่อสร้างด้วยระบบโมดูล่าร์ พร้อมทั้งปัญหาในการก่อสร้างที่เกิดขึ้นครั้งแรก และวิธีการแก้ไข รวมถึงโอกาสและการพัฒนา Modular Construction ต่อไป

เอสซีจี ดำเนินธุรกิจตามแนวทาง Inclusive Green Growth เน้นธุรกิจเติบโตควบคู่โลกที่ยั่งยืน หนึ่งในนั้น คือ การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำในภาคอุตสาหกรรมก่อสร้าง ประกอบด้วย บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทสถาปนิกและที่ปรึกษาด้านการก่อสร้าง บริษัทผู้ผลิต บริษัทผู้รับหมาก่อสร้าง และบริษัทผู้ให้บริการจัดการของเหลือจากการก่อสร้างที่เน้นให้ความสำคัญกับการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ในงานก่อสร้าง และมีความสนใจนำเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ไปปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ

จากสมาชิกเริ่มแรก 12 รายจนถึง 38 รายในปัจจุบัน เกิดโครงการรูปธรรมมากมายที่นำนวัตกรรมมาช่วยจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการก่อสร้างเพื่อนำมากลับมาใช้ใหม่ อาทิ การใช้นวัตกรรม BIM ทั้งนำร่องโครงการ King Bridge Tower และโครงการก่อสร้างของกลุ่ม CECI ที่ดำเนินการร่วมกันตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง และขั้นตอนการก่อสร้าง โดยใช้ BIM เป็นเครื่องมือในการออกแบบ เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดการเกิดของเสียที่หน้างาน และลดระยะเวลา ซึ่งเอสซีจีเป็นที่ปรึกษาตั้งแต่การสร้างโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Model) ที่ประยุกต์มาจาก 10 Circular Business Models for More Sustainable Construction” ของ Roland Berger รวมถึงให้คำแนะนำในการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในโครงการต่าง ๆ

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 130 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน