มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 128 ครั้ง
วันนี้ (30 ธ.ค.67) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) พร้อมด้วย พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รอง ผบ.ตร. และ นายเชษฐา โฆสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2567 โดยมี นายนิวัติ เอี่ยมเที่ยง ผู้อำนวยการกองอำนวยการพัฒนาพฤตินิสัยผู้เสพยาเสพติด ผู้แทนกรมคุมประพฤติ เข้าร่วมประชุม
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (รมว.ยธ.) ในฐานะประธานแถลงข่าวศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 เปิดเผยว่า ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2567 เกิดอุบัติเหตุ 280 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 269 คน ผู้เสียชีวิต 47 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (27 – 29 ธันวาคม 2567) เกิดอุบัติเหตุรวม 872 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 841 คน ผู้เสียชีวิต รวม 143 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 19 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (35 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (32 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (7 ราย)
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง กล่าวต่อว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงที่หมายแล้ว และเริ่มมีการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง รวมถึงเฉลิมฉลองกันตามสถานที่จัดงานปีใหม่ ซึ่งอาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ จึงได้กำชับให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง โดยให้ปรับแผนการตั้งจุดตรวจด่านตรวจในบริเวณที่มีการจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และดำเนินการอย่างเข้มข้นในการเรียกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงให้ควบคุมดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี และการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณสถานที่จัดงาน นอกจากนี้ ให้จังหวัดเข้มงวดเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ โดยเฉพาะกรณีผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ดื่มแล้วขับ ให้ขยายผลสอบสวนดำเนินคดีไปที่ต้นทาง ทั้งผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้สนับสนุน และผู้ปกครองของผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบเกี่ยวกับผลของการกระทำผิด และหากมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรให้ใช้บทลงโทษสูงสุดตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย
ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามการกระทำผิดซ้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการกระทำผิดเกี่ยวกับการขับขี่รถขณะเมาสุราหรือการกระทำที่อาจเป็นอันตายต่อความปลอดภัยทางถนน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมโดยรวม ส่วนผู้ที่กระทำผิดที่มีภาวะติดสุรา ต้องส่งเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
ทั้งนี้ ในส่วนการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม ได้บูรณาการกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครคุมประพฤติ และผู้ถูกคุมประพฤติคดีเมาแล้วขับและอื่น ๆ กว่า 400,000 คน ทั่วประเทศ สนับสนุนการปฏิบัติงานตามจุดบริการประชาชนทั่วประเทศ เน้นย้ำกรณีเด็กและเยาวชนเกิดอุบัติเหตุจากดื่มสุราต้องดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายด้วยหรือยึดรถจักรยานยนต์หากเสี่ยงกระทำผิด พร้อมเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน 4 ฐานความผิด โดยศาลจะมีคำสั่งคุมประพฤติ ประกอบด้วย การขับรถขณะเมาสุรา การขับรถโดยประมาท การขับรถซิ่ง และการขับเสพ โดยตั้งแต่วันที่ 27 -29 ธันวาคม 2567 ได้ดำเนินคดี จำนวน 1,763 คดี และติดกำไล EM กับผู้กระทำผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา จำนวน 4 ราย ซึ่งจะมีการติดตามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งมีมาตรการในการแก้ไขฟื้นฟูอีกด้วย
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 128 ครั้ง