มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 242 ครั้ง
กรมราชทัณฑ์ ชี้แจง กรณีมูลนิธิเอกชนแห่งหนึ่งมีความกังวลต่อการย้ายผู้ต้องขังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร (รจพ.กทม.) ไปคุมขังยังเรือนจำ 9 แห่ง ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ย้ายไปคุมขังยังเรือนจำกลางบางขวาง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 โดยที่ญาติไม่ทราบล่วงหน้า และทนายความช่วยเหลือไม่สามารถเข้าเยี่ยมเยียนได้
กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานการย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครว่า ได้ย้ายผู้ต้องขังจำนวน 2,200 ราย ไปคุมขังยังเรือนจำและทัณฑสถาน 9 แห่ง เช่น เรือนจำกลางคลองเปรม 500 ราย เรือนจำกลางบางขวาง 600 ราย ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง 300 ราย เป็นต้น
โดยเรือนจำฯ ได้พิจารณาย้ายผู้ต้องขังจากสถานะทางคดีเป็นสำคัญ มิได้พิจารณาจากมูลเหตุสาเหตุแห่งคดีหรือเกณฑ์อื่น และเรือนจำฯ ไม่สามารถพิจารณาย้ายผู้ต้องขังทุกรายไปยังเรือนจำกลางคลองเปรมเพียงแห่งเดียวได้ เนื่องจากผู้ต้องขังจะเกินอัตราความจุที่กรมราชทัณฑ์กำหนดให้เรือนจำกลางคลองเปรมรองรับได้ ทั้งนี้ ยกเว้นผู้ต้องขังคดียาเสพติด ที่กำหนดให้ย้ายไปยังทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง
การย้ายผู้ต้องขังดังกล่าว เป็นการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงยุติธรรม ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี แยกออกจากนักโทษเด็ดขาดให้มีความชัดเจน โดยแยกเป็นกลุ่มเรือนจำ 8 กลุ่มจังหวัด (Hub) ซึ่งเรือนจำฯ อยู่ในกลุ่มที่ 7 กลุ่มกรุงเทพมหานคร อนึ่งมูลนิธิมีประเด็นข้อกังวล ดังนี้
1) กลุ่มผู้ต้องขังคดีการเมือง 3 ราย ได้แก่ ข.ช.อุกฤษฎ์ฯ ข.ช.สถาพรฯ และ ข.ช.ธนายุทธฯ อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการพิจารณาให้ไปคุมขังยังเรือนจำกลางบางขวาง เนื่องจากมีบางคดีที่เด็ดขาดแล้ว และไม่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีในชั้นสอบสวนไต่สวนมูลฟ้อง
2) เมื่อผู้ต้องขังทั้ง 3 ราย ย้ายไปเรือนจำกลางบางขวางแล้ว เหตุใดจึงมีการแยกคุมขังไว้คนละแดนกัน เนื่องจากเรือนจำกลางบางขวางรับย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สามารถบริหารจัดการตามมาตรการความปลอดภัยในเรือนจำ จึงจำเป็นต้องแยกผู้ต้องขังดังกล่าวไว้คนละแดน เพื่อป้องกันการก่อเหตุวุ่นวาย การรวมกลุ่มบ้าน และกรณีผู้ต้องขังรับตัวเข้าใหม่ ต้องมีการแยกกักตัวควบคุมโรค เป็นระยะเวลา 5 วัน
3) ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการเยี่ยม การติดต่อของบุคคลภายนอกกับผู้ต้องขัง และการเข้าดูกิจการหรือติดต่อการงานกับเรือนจำ พ.ศ. 2561 กรณีทนายความที่จะขอเข้าพบผู้ต้องขังเกี่ยวกับคดี จะต้องเป็นทนายความที่ได้รับใบอนุญาตให้เป็นทนายความตามกฎหมายว่าด้วยทนายความ และจะเข้าพบกับผู้ต้องขังได้เฉพาะทนายความที่ผู้ต้องขังต้องการพบเท่านั้น และทนายความรายใดที่ผู้ต้องขังได้แต่งตั้งและคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลแล้ว ทนายความนั้นจะต้องยื่นสำเนาใบแต่งทนายความที่ศาลประทับรับไว้ในสำนวนคดีให้เป็นทนายความของผู้ต้องขัง พร้อมคำร้องขอพบผู้ต้องขังด้วย สำหรับทนายความที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ต้องขังแล้วแต่ศาลยังไม่ประทับ และผู้ต้องขังแต่งตั้งไว้ในระยะเวลาไม่นานเกินสมควรสามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ กรณีทนายความจะพบผู้ต้องขังมากกว่า 1 คน ในคราวเดียวกัน สามารถขออนุญาตจากผู้บัญชาการเรือนจำได้ ในกรณีที่ผู้ต้องขังนั้นเป็นผู้ต้องหาร่วมหรือจำเลยร่วมในคดีเดียวกัน และการพบนั้นเพื่อประโยชน์ในกระบวนการพิจารณาคดี
4) กรณีญาติบางคนไม่สามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานยืนยันความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องขัง เช่น แฟนของผู้ต้องขังจะเข้าเยี่ยมได้นั้นต้องมีผู้รับรองว่าเป็นแฟนกัน ทั้งนี้ อาจให้บิดาหรือมารดาของผู้ต้องขังลงลายมือชื่อรับรองสถานะให้ พร้อมแนบบัตรประจำตัวประชาชน และคำร้องเพื่อให้ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาให้เข้าเยี่ยมได้ เป็นต้น
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนว่า เรือนจำศูนย์ระหว่างพิจารณาคดี (Hub) เพื่อแยกการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีและนักโทษเด็ดขาดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 29 วรรคสอง หลักอาชญาวิทยา หลักสิทธิมนุษยชน และข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังฉบับปรับปรุง (แมนเดลา)
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 242 ครั้ง