มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2235 ครั้ง
‘เฉลิมชัย’ เผยโครงการเยียวยาเกษตรกรและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม คืบหน้าเป๊ะตามแผน ต้น ก.พ. นักเรียน 7 ล้านคนได้กินนมเพิ่มอีก 30 กล่องแน่นอน
วันนี้ (15 ม.ค.64) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมติงบประมาณ ภายในกรอบวงเงิน 1.47 พันล้านบาท เมื่อวันอังคารที่ 12 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา
ล่าสุดได้รับรายงานจาก นสพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม (นม) ว่า ขณะนี้การดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดได้มีความคืบหน้าตามกำหนด โดยเฉพาะร่างหลักเกณฑ์การจัดสรรสิทธิโครงการฯ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จและกำลังส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน ที่มี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเป็นประกาศหลักเกณฑ์
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ดังนั้น คาดว่า ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นี้จะสามารถดำเนินการจัดซื้อ และทำสัญญากับผู้ประกอบการ เพื่อให้จัดส่งนมไปยังโรงเรียนต่างๆ ได้ตามการจัดสรรพื้นที่ของคณะกรรมการขับเคลื่อนนมเพื่อเด็กและเยาวชน ระดับกลุ่มพื้นที่ทั้ง 5 กลุ่ม
“นักเรียนทั้ง 7 ล้านคนทั่วประเทศ จะได้ดื่มนมโรงเรียน เพิ่มอีกคนละ 30 กล่อง ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้อย่างแน่นอน โดยขณะนี้ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการให้ทุกขั้นตอนแล้วเสร็จโดยไว เพราะต้องการให้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด” นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้าน นสพ.สรวิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณให้ดำเนินการโครงเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นมฯ ในครั้งนี้ ได้สร้างความยินดีให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และต่างของขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ช่วยทำให้เกิดการช่วยเหลือในครั้งนี้
“ในส่วนของจำนวนผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมดำเนินการจัดส่งนมโรงเรียนตามโครงการฯนั้น เบื้องต้น กรมปศุสัตว์จะขอความร่วมมือโดยเน้นความสมัครใจเป็นเรื่องสำคัญ โดยเร็วๆ นี้จะจัดให้มีการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อสำรวจความคิดเห็นว่าจะสมัครเข้าร่วมหรือไม่ เพราะในการจัดซื้อนมโรงเรียนทั้ง 200 ล้านกล่องนั้น คาดว่าต้องทำสัญญาจัดซื้อในราคาที่ต่ำกว่าทุน เบื้องต้นคาดว่าไม่เกินกล่องละ 7 บาท ดังนั้นจึงต้องการผู้ที่ต้องมีส่วนร่วมในการเสียสละร่วมดำเนินการจริงๆ” นสพ.สรวิศ กล่าว
นสพ.สรวิศ กล่าวต่อไปว่า ส่วนผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในรอบการระบาดใหม่ล่าสุดนี้ ทางเกษตรกรและผู้ประกอบการได้มีการเสนอเรื่องในเบื้องต้นมาแล้วว่า อยากให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยดำเนินการช่วยเหลืออีกครั้ง ซึ่งทางกรมปศุสัตว์ได้ทำการศึกษาในเบื้องต้นแล้วพบว่าสามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องของบประมาณเพิ่มเติม สามารถใช้งบประมาณในปี 2564 ดำเนินการได้ ซึ่งเรื่องนี้จะต้องมีการนำเสนอให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พิจารณาก่อน
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2235 ครั้ง