มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1348 ครั้ง
กรมราชทัณฑ์ ดำเนินโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง” กรมราชทัณฑ์ พร้อมตั้งศูนย์ CARE Model ร่วมกับจิตอาสาพระราชทาน 904 ติดตามช่วยเหลือผู้พ้นโทษ
วันนี้ (23 ม.ค.64) กรมราชทัณฑ์ ระบุว่า “โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” เป็นโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยให้แก่ผู้ต้องขังที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ อันเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงเล็งเห็นว่า ผู้ต้องขังที่จะพ้นโทษจากเรือนจำและทัณฑสถานออกไปนั้น อาจจะได้รับผลกระทบจากกระแสโลกาภิวัฒน์และการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตของผู้พ้นโทษ จึงได้พระราชทานโครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ เพื่อใช้เป็นหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยในการฝึกอบรมผู้ต้องขัง อันจะเป็นพื้นฐานในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ และการใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวภายหลังพ้นโทษ
กรมราชทัณฑ์ จึงได้เริ่มดำเนินโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ขึ้น เมื่อวันที่ 1 ก.ย.63 ให้เป็นโครงการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ด้วยการสร้างต้นแบบการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่เพื่อให้ผู้พ้นโทษสามารถพึ่งพาตนเอง รวมถึงช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้ โดยมุ่งไปที่การปรับเปลี่ยนองค์ความคิด หรือ Mindset ที่จะช่วยพัฒนาทักษะด้านความคิด ทัศนคติ และร่างกายของผู้ต้องขังให้มีวินัย ความรัก ความสามัคคี และการช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้เป็นอย่างดี
การฝึกอบรมของโครงการฯ ดังกล่าว จะดำเนินการอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติเป็นระยะเวลา 14 วัน ด้วยการน้อมนำ สืบสาน และต่อยอดหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นการประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา จากการถ่ายทอดของวิทยากร “ครูพาทำ” และผู้เชี่ยวชาญในด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งจะมุ่งเน้นให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ลงมือปฏิบัติ และแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์จริง เพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ ได้มีทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ที่เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ รวมถึงผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกอบรมและกำลังเข้ารับการฝึกอบรม แบ่งเป็น 7 รุ่น รวมทั้งสิ้น 107,830 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 ม.ค.64)
โครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์ นอกจากจะดำเนินการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 14 วันแล้ว กรมราชทัณฑ์ ยังมีการติดตามผลการดำเนินโครงการ ผ่านศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำต้นแบบประจำภาค หรือ CARE Model ที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ ภาคกลาง ศูนย์ CARE เรือนจำกลางสมุทรปราการ, ภาคเหนือ ศูนย์ CARE เรือนจำกลางเชียงใหม่, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ศูนย์ CARE เรือนจำกลางนครราชสีมา และภาคใต้ ศูนย์ CARE เรือนจำกลางสงขลา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดตามและให้ความช่วยเหลือผู้พ้นโทษ
โดยเฉพาะกลุ่มผู้พ้นโทษที่ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์” ด้วยการจัดทำระบบบันทึกข้อมูล เพื่อประมวลผลการติดตามผู้พ้นโทษที่ต้องการรับความช่วยเหลือ และผู้พ้นโทษที่นำความรู้เกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ไปใช้ประโยชน์ภายหลังพ้นโทษ เพื่อต่อยอดในการนำบุคคลดังกล่าวมาเป็น บุคคลต้นแบบ และร่วมเป็นวิทยากรจิตอาสาถ่ายทอดประสบการณ์และแนวคิดการใช้ชีวิตพอเพียงภายหลังพ้นโทษ โดยประสานการดำเนินงานผ่านศูนย์ CARE ประจำเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ ร่วมกับ จิตอาสาพระราชทาน 904 ซึ่งจากรายงานของการประชุมศูนย์ประสานงานและส่งเสริมการมีงานทำต้นแบบประจำภาค (CARE Model) ร่วมกับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.จอส.พระราชทาน) พบว่า ในระหว่างวันที่ 18 ธ.ค.63 ถึงวันที่ 18 ม.ค.64 สามารถติดตามผู้ที่ผ่านการอบรม จำนวน 3,603 คน มีผู้พ้นโทษที่ได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปประกอบอาชีพแล้ว จำนวน 470 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ม.ค.64)
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานอาหารมื้อกลางวัน รวมทั้งเสื้อพระราชทานโคกหนองนาฯ ตลอดจนสมุดไดอารี่พระราชทาน และชุดเครื่องเขียน เพื่อสนับสนุนให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังที่เข้ารับการฝึกอบรมในโครงการดังกล่าว ซึ่งกรมราชทัณฑ์และผู้ต้องราชทัณฑ์ทุกคนรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พร้อมที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1348 ครั้ง