มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1028 ครั้ง
“เฉลิมชัย” มอบหมายนโยบายบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2564 “ฟรุ้ตบอร์ด” (Fruit Board) ทุ่มงบกว่า 400 ล้าน เร่งพัฒนาและรับมือผลไม้ฤดูกาลใหม่ บุกตลาดออนไลน์ออฟไลน์ ปรับแผนโลจิสติกส์เพิ่มขนส่งทางรางสู่เอเชียและยุโรป พร้อมเร่งปั้นนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ดึง AIC และ ส.อ.ท. ร่วมขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาผลไม้ไทยอย่างยั่งยืน
วันนี้ (29 ม.ค.64) นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 2/2564 พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายทินกร อ่อนประทุม คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ ฯ และคณะกรรมการ ร่วมประชุมทางไกลออนไลน์ ผ่านระบบ ZOOM Application ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายอลงกรณ์ เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ได้ย้ำถึงแนวทาง 5 ยุทธศาสตร์ 15 ตามนโยบายหลักของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการบริหารงานปี 2564 และขอให้ใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการทำงานยุคโควิด-19 ต่อคณะกรรมการ fruit board โดยมอบหมายฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯประสานการจัดทำแผนการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่อุปทานผลไม้ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ จากสวนถึงผู้บริโภค รวมทั้งปรับแผนโลจิสติกส์ (logistics plan) ระบบการขนส่งกระจายผลไม้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเพิ่มแผนขนส่งทางรางเชื่อมไทยเชื่อมโลกเชื่อมทางรถไฟจีนที่ลาวและที่ด่านผิงเสียงชายแดนเวียดนามสู่ตลาดจีนเกาหลี รัสเซีย มองโกเลีย เอเซียกลาง ตะวันออกกลาง และยุโรป แผนการวิจัยและพัฒนาผลไม้ตลอดห่วงโซ่อุปทานใช้วิทยาการสมัยใหม่และเทคโนโลยี เพื่อลดต้นทุนสร้างมูลค่าเพิ่มแผนแรงงาน แผนระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค แผนสื่อสารประชาสัมพันธ์และการตลาดโดยให้เร่งนำเสนอต่อที่คณะกรรมการฯ พิจารณาในการประชุมคราวหน้า เป็นการปรับกลยุทธ์การทำงานต่อเนื่องจากฤดูกาลผลิตปีที่แล้ว เพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 ปีที่ 2 และรับมือกับผลผลิตผลไม้ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้กว่า 24% จากรายงานการคาดการณ์ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)
ทั้งนี้ ที่ประชุมฟรุ้ทบอร์ด ได้เห็นชอบโครงการพัฒนาและแก้ไขปัญหาผลไม้ ปี 2564 งบประมาณ 492 ล้านบาท และมอบหมายกรมการค้าภายในนำเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรพิจารณาให้ความเห็นชอบในต้นเดือนกุมภาพันธ์ต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย กิจกรรมสนับสนุนด้าน (1) การกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตและการเชื่อมโยงการจำหน่ายช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดมาก (2) การเพิ่มช่องการจำหน่าย (3) การรวบรวมรับซื้อผลผลิตเพื่อส่งออก (4) การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และรณรงค์การบริโภคผลไม้” ซึ่งเป็นมาตรการรองรับสำหรับการบริหารจัดการรวมทั้งปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเน้นการแก้ไขปัญหาเชิงรุกล่วงหน้าอาทิ ปัญหาผลผลิตออกมาพร้อมกันในช่วงต้นฤดูร้อน ปัญหาโลจิสติกส์การขนส่งผลไม้ทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือจากค่าบริการที่เพิ่มขึ้น ตู้คอนเทนเนอร์ที่ขาดแคลน ปัญหาแรงงาน และประเด็นความเชื่อมั่นของตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดจีนกรณีการปนเปื้อนโควิด-19 ของสินค้าเกษตรที่จีนนำเข้าจากบางประเทศจึงต้องเพิ่มมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) รวมถึงมาตรการเพิ่มการสื่อสารเชิงรุก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ และทำการตลาดล่วงหน้าออนไลน์และออฟไลน์ นอกจากนี้ยังให้ส่งเสริมการแปรรูปผลไม้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสนับสนุนให้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมผลไม้ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้และภาคตะวันออกโดยประสานงานกับศูนย์ AIC ทุกจังหวัด และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมขับเคลื่อน
นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเพิ่มจำนวนครัวเรือนเป้าหมายเกษตรกรในโครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2563 จาก 202,013 ครัวเรือน เป็น 202,173 ครัวเรือน โดยเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 วงเงินงบประมาณ 3,440,049,735 บาท และขยายระยะเวลาการดำเนินงานโครงการฯ จากเดิม 31 มกราคม 2564 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 เมษายน 2564 เพื่อให้การดำเนินการเยียวยาชาวสวนลำไย ในส่วนที่ยังตกหล่นครบถ้วนถูกต้องเป็นธรรม โดยจะนำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ส่วนการโอนเงินเยียวยาตามมติครม.25 สิงหาคม นั้น ธกส.รายงานว่า โอนเสร็จแล้วกว่า 99% เหลือเฉพาะเกษตรกรที่ติดขัดปัญหาไม่กี่ร้อยรายจาก 2 แสนราย
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังรับทราบรายงานโครงการกระจายผลไม้ Pre – order โดยประธานคณะอนุกรรมการ E- commerce ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤชฐา โภคาสถิต) และการนำเสนอแผนงานของสมาคมทุเรียนไทยในการส่งเสริมการส่งออกทุเรียนไทยในช่วงการระบาดของ Covid-19 พร้อมทั้งจัดทำคลิปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคทุเรียนไทย “กินทุเรียนไทย มั่นใจปลอดไวรัส covid-19 เป็นภาษาจีน-ไทย-อังกฤษ โดยขอให้ช่วยเผยแพร่ในตลาดเป้าหมายด้วย
สำหรับแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ช่วงวิกฤตการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมานั้น ในประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ครั้งที่ 1/2564 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางบริหารจัดการผลไม้ ปี 2564 – 2566 ซึ่งเป็นแนวทางบริหารจัดการผลไม้ในระยะปานกลาง (3 ปี) ที่เน้นความสอดคล้องตามยุคสมัยปัจจุบันที่มีเทคโนโลยีและเครื่องมือสื่อสารที่อำนวยความสะดวกมากขึ้นในยุค 4.0 ตลอดจนให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรค COVID–19 โดยเน้นช่องทางการซื้อขายออนไลน์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกระจายได้สูง เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิถีการขายแบบใหม่ ไม่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง โดยให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ทุกจังหวัด ส่งเสริมและสนับสนุนอำนวยความสะดวกเกษตรกรในพื้นที่ให้สามารถกระจายผลผลิตด้วยวิธีการค้าออนไลน์ให้มากขึ้นต่อไป เน้นการป้องกันตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง การเก็บเกี่ยวและการจัดการในสวนผลไม้จนถึงการขนส่งไปยังผู้บริโภคให้มีการปฏิบัติที่ปลอดภัย
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1028 ครั้ง