ปรับลด..ปลดหนี้ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1414 ครั้ง

นาวาตรี วรวิทย์ เตชะสุภากูร อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า ช่วงโควิดที่ผ่านมา หลายคนเจอปัญหาใหญ่ คือ รายได้ลด ค่าใช้จ่ายคงที่/เพิ่มขึ้น หนี้สินยังต้องส่งต้องผ่อน ทั้ง 3 เรื่อง หนักๆ พอๆ กัน ทั้งพี่น้องประชาชนในเมืองและชนบท

ในส่วนหนี้ภาคครัวเรือน กับธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ ก็มีการช่วยพักหนี้ เช่น เงินต้นและ/หรือดอกเบี้ย พักนานแค่ไหน ก็แล้วแต่ ส่วนในระดับหมู่บ้านชุมชน ซึ่งเป็นฐานรากสำคัญ ก็มีหนี้จากกลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน โครงการแก้ไขหมู่บ้านยากจน (กข.คจ.) หรือกองทุนหมุนเวียน ในเรื่องต่างๆตามโครงการของรัฐ

นาวาตรี วรวิทย์ กล่าวต่อว่า “หนี้ที่รุงรัง” เกิดจาก “การกู้หลายที่ เป็นหนี้หลายทาง” รายได้จากการเกษตรมีไม่พอ หรือมาไม่ทัน กับกำหนดจ่ายหนี้ ต้องกู้จากที่หนึ่ง หรือกองทุนหนึ่ง ไปจ่ายอีกที่หนึ่ง หลายครั้งเงินกู้ใหม่ก็มาพร้อมกับดอกเบี้ยใหม่ ที่แพงขึ้นด้วย จึงเป็นเพียงการยืดเวลาและสะสมหนี้ต่อไปได้เท่านั้น

กรมการพัฒนาชุมชน หรือ พช. ได้นำร่องตั้ง “ศูนย์จัดการกองทุนชุมชน” เพื่อจัดการหนี้ ที่รุงรังของครอบครัวให้เป็น “1 ครัวเรือน 1 สัญญา” ลองทำมาแล้ว ที่ชุมชนใน จ.จันทบุรี จ.เชียงราย จ.กระบี่ และ จ.อุบลราชธานี ผลคือ ลดหนี้ไปได้ถึง 3-10 % เลย

วิธีการคือ ให้ศูนย์ฯนี้ประสาน เชิญชวน ครอบครัว ที่กู้เงินหรือเป็นหนี้อยู่กับกองทุนต่างๆ ของรัฐ มา “ปรับโครงสร้างหนี้” กัน โดยดูวงเงิน ลดดอกเบี้ยบ้าง ปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ ขยับรอบระยะเวลา ให้สอดคล้อง และเหมาะกับรายได้จากผลผลิตเกษตร หนี้บางส่วนอาจต้องตัดเป็นหนี้สูญบ้าง รวมถึงต่อไป จะเริ่มสร้างระบบการออมเงิน เป็นรายเดือนหรือเป็นประจำอีกด้วย

นาวาตรี วรวิทย์ กล่าวอีกว่า จากแนวทาง “1 ครัวเรือน 1 สัญญา” เราสามารถที่จะต่อยอดให้สุดๆ ด้วย “3 ขยาย”

  1. ขยายให้ทั่วประเทศ ทั้งในระดับอำเภอ ตำบล จนทั่ว 75,000 หมู่บ้าน
  2. ขยายพันธมิตรองค์กรในชุมชน เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน กองทุนต่างๆ ให้ช่วยมาเป็นที่ปรึกษาอาสาสมัคร (Voluntee Advisor) ในงานด้านต่างๆ เช่น กฎหมาย บัญชี การตลาดออนไลน์ ท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ
  3. ขยายผลลัพธ์ จากความร่วมมือของบุคลากรในท้องถิ่น จะได้ผลลัพธ์เพิ่ม ในการสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้พัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมได้จริง ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goal:SDGs)

และ “3 นโยบายการทำงาน”

  1. ใช้กลไกความร่วมมือ “แบบสอดประสาน” ทั้งองค์กรในชุมชน (ตัวแทนชุมชน) และองค์กรสนับสนุน (กรมการพัฒนาชุมชนและกองทุนต่างๆ)
  2. ทำแผนปฏิบัติการ “แบบเจาะจง” ต่อพื้นที่ยากจนซ้ำซาก โดยปรับใช้แผนของ 4 ชุมชนนำร่อง กับ ชุมชนเศรษฐกิจแบบพึ่งตนเอง เช่นที่ บ้านนาต้นจั่น จ.สุโขทัย บ้านน้ำเกี๋ยน, จ.น่าน และบ้านอุ่มแสง จ.ศรีสะเกษ เพื่อมาเป็น “ต้นแบบเบื้องต้น” ไปใช้ก่อนได้เลย
  3. พัฒนาบทบาทสู่ สถาบันเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ด้วยการนำความรู้ ประสบการณ์ของศูนย์จัดการกองทุนชุมชน ไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับบทบาทของธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. ธนาคาร SMEs และสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นนั้นๆ ให้มาช่วยทำหน้าที่ร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อบ้านของเรา

นาวาตรี วรวิทย์ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อจัดการลดภาระหนี้ได้แล้ว วันๆก็ไม่ต้องเครียด!!! วิ่งไปกู้ วนไปวนมาอีก ทำให้มีเวลา มีใจ มีพลัง พร้อมที่จะเริ่มหาทางในการสร้างรายได้เพิ่มต่อไป ก็เพราะว่า “การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ”

“เราทุกคนและชุมชน ก็จะเริ่มกลับมา ตั้งหลัก ให้ “พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น” และหลังโควิดนี้ ก็จะพร้อมลุกขึ้นยืน แล้วเดินต่อไปได้ อย่างยั่งยืน ถึงรุ่นลูกรุ่นหลานเรากันนะครับ” นาวาตรี วรวิทย์ กล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก คมธ.แก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 1414 ครั้ง

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

แสดง
ซ่อน