มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 3043 ครั้ง
วันนี้ (10 ก.พ.64) นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมคณะลงพื้นที่ตรวจสภาพอาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวาณิช (เขียว) หรือ วังค้างคาว ปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.2723 (บางส่วน) โฉนดเลขที่ 3249 แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ทั้งแปลง 0 – 3 – 29 ไร่ รวมถึงที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.0580 โฉนดเลขที่ 1001 แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ตามโฉนด 1 – 2 – 13 ไร่ เนื้อที่ตามสภาพครอบครอง 1 – 2 – 16 ไร่
นายยุทธนา เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ มีนโยบายในการนำอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ มาจัดทำฐานข้อมูลเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหาย ตลอดจนเพื่อหาแนวทางในการอนุรักษ์และพัฒนาต่อไป ทั้งนี้ อาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวานิช (เขียว) หรือ วังค้างคาว เป็นหนึ่งในอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าที่ควรแก่การอนุรักษ์ไว้ โดยอาคารดังกล่าวตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของพระประเสริฐวานิช (เจ้าสัวเขียว เหล่าประเสริฐ) จากหลักฐานตามโฉนดที่ดินเลขที่ 999 ออกเมื่อ 31 ธันวาคม ร.ศ.125 (พ.ศ.2495) ต่อมาบ้านและที่ดินตกเป็นของนายเว้น ผู้เป็นบุตรชาย และนายเว้นได้บริจาคให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2464 โดยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2450 – 2460 ได้มีการให้บริษัทหลักสุงเฮง ของนายเฮียกวงเอี่ยม อดีตประธานหอการค้าไทย – จีน เช่าอาคารและพื้นที่เป็นสำนักงานและท่าเรือของบริษัทฯ ซึ่งดำเนินกิจการรับส่งสินค้าทางเรือ
นายยุทธนา กล่าวต่อว่า จากนั้น ห้างฮั่วจั่วจั่น ได้มาขอเช่าต่อ โดยใช้พื้นที่ใต้ตึกเป็นที่เก็บสินค้า เมื่อเลิกเช่าแล้วตัวอาคารจึงถูกปิดร้างไม่ได้ใช้ประโยชน์มาหลายสิบปี จึงทำให้มีค้างคาวเข้ามาทำรัง และอาศัยอยู่บริเวณใต้ตึกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้มีคนเรียกอาคารเก่าหลังนี้ว่า “วังค้างคาว” ลักษณะและรูปแบบของอาคาร เป็นกลุ่มอาคารเก๋งจีน 2 ชั้น 2 หลัง ตั้งขนานกันหันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา มีระเบียงเชื่อมถึงกัน ล้อมลานโล่งตรงกลางไว้ พื้นที่ตรงกลางด้านล่างอาคารเป็นลานโล่งขนาดใหญ่ และพื้นที่บริเวณใต้ถุนอาคารถูกแบ่งเป็นสัดส่วนทั้งสองฝั่ง เพื่อใช้ประโยชน์เป็นที่เก็บสินค้า อาคารก่ออิฐถือปูน หลังคามุงกระเบื้อง หน้าจั่วปูนปั้น สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ปัจจุบัน กรมศิลปากร ได้ประกาศรายชื่อโบราณสถานในเขตกรุงเทพมหานคร ให้อาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวานิช (เขียว) หรือ วังค้างคาว เป็นโบราณสถาน ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนพิเศษ 165 ง ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2561
นายยุทธนา กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการอนุรักษ์อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่เป็นที่ราชพัสดุที่มีลักษณะยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ และเพื่อพัฒนาที่ราชพัสดุให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ กรมธนารักษ์จึงมีนโยบายที่จะเปิดประมูลสิทธิ์การเช่าอาคารราชพัสดุบ้านพระประเสริฐวานิช (เขียว) หรือ วังค้างคาว ปลูกสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.2723 (บางส่วน) โฉนดเลขที่ 3249 (เดิม 999) และประมูลพัฒนาที่ราชพัสดุเพื่อปลูกสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลัง บนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท. 0580 โฉนดเลขที่ 1001 แขวงคลองสาน เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรังวัดตรวจสอบแนวเขตที่ราชพัสดุ เพื่อจัดทำผังประมูล และอยู่ระหว่างการประสานกรมศิลปากรเพื่อกำหนดรูปแบบในการพัฒนา โดยคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในเดือนเมษายน 2564
ทั้งนี้ “กรมธนารักษ์ ได้ตั้งเป้าหมายที่จะเดินหน้าโครงการพัฒนาอาคารราชพัสดุทรงคุณค่าให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งแต่ละโครงการก็มีความคืบหน้าไปเป็นอย่างมาก เช่น อาคารราชพัสดุแปลงบ้านพระประเสริฐวานิช (เขียว) หรือ วังค้างคาว เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ที่อยู่ระหว่างการรังวัดตรวจสอบแนวเขตและหารือกับกรมศิลปากร เกี่ยวกับรูปแบบการพัฒนา อาคารบ้านพายัพ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ที่เปิดประมูลแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาผลการคัดเลือกผู้ประมูล โดยกรมธนารักษ์จะได้รับค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าขั้นต่ำ เป็นเงิน 1,745,460 บาท ค่าเช่าในอัตราเดือนละ 57,273 บาท หรือปีละ 687,276 บาท รวมระยะเวลา 5 ปี เป็นเงิน 3,436,380 บาท และอาคารบ้านขุนพิทักษ์บริหาร (บ้านเขียว) อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่อยู่ระหว่างกรมศิลปากรกำหนดรูปแบบในการประมูลพัฒนา เป็นต้น โดยโครงการดังกล่าวนอกจากจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งเสริมการอนุรักษ์อาคารที่ยังทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม หรือสถาปัตยกรรมให้คงอยู่สืบไปด้วย” อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 3043 ครั้ง