มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2112 ครั้ง
วันนี้ (18 ก.พ.64) ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงการอภิปรายเกี่ยวกับการจัดซื้อถุงมือยางเทียมขององค์การคลังสินค้า หรือ อคส.จากนายประเสริฐ จันทรวงทอง ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา พรรคเพื่อไทย โดยนายจุรินทร์ ชี้แจงว่า เรื่องนี้เคยตอบกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีโดยตนในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ทำหน้าที่ตอบกระทู้สดแล้ว ซึ่งขอปฏิเสธไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องยุ่งเกี่ยวกับโครงการการดำเนินการแต่อย่างใดทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็นแบบทางการไม่เป็นทางการหรือแอบสั่งการในที่ลับที่แจ้งใดๆ ก็ตาม
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผู้อภิปรายโกหกหลายประการในที่ประชุมสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการไม่ตั้งกรรมการสอบ การอายัด การดำเนินคดี การดำเนินการเมื่อทราบเรื่องและการให้สัมภาษต่อสื่อมวลชน ซึ่งทั้งหมดนั้นตนได้ดำเนินการการแล้ว โดยเฉพาะทันทีที่ทราบได้ประสานงานเรื่องย้ายอดีตรักษาการ อคส.ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม
“เรื่องนี้ตนจะไม่ยอมไม่ว่าใครทุจริตโครงการจะจัดการทั้งทางวินัย ทางแพ่งทางอาญา จนถึงที่สุด ตราบที่อำนาจหน้าที่และกฎหมายให้” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า ผู้อภิปรายกล่าวเท็จกรณีมอบนโยบายเตรียมให้ทุจริตโดยให้ประธานบอร์ดไปดำเนินการซื้อขายถุงมือยางโดยความจริงคือนโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศโดยกระทรวงพาณิชย์ให้ผู้ส่งออก-นำเข้าได้ค้าขายยางออนไลน์รวมทั้งตลาดถุงมือยางนั้นเป็นยางธรรมชาติที่ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางแต่ไม่ใช่ถุงมือยางเทียมที่ส่อทุจริตซึ่งพูดอยู่ในสภาขณะนี้
โดยการชี้แจงในสภาวันนี้ นายจุรินทร์ได้ระบุถึงสรุปการจัดการกรณีถุงมือยางเทียม อคส. เมื่อพบในวันที่ 14 กันยายน 2563 ก็ได้ทำการสั่ง พ.ต.อ.รุ่งโรจน์ พุทธิยาวัฒน์ จากนั้น 15 กันยายน 2563 มีการตั้งคณะกรรมการสอบทันที ต่อด้วยวันที่ 17 กันยายน 2563 ได้มีการระงับการซื้อขาย และเมื่อ 18 กันยายน 2563 นายเกรียงศักดิ์ ประทีปวิศรุต ผู้อำนวยการ อคส.คนใหม่ได้เข้าแจ้งความต่อทั้ง ดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ ปปง.หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ก่อนที่วันที่ 23 กันยายน 2563 จะเข้าแจ้งความต่อ ปปช. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จากนั้นทางผู้อำนวยการ อคส.คนใหม่ก็ได้รายงานตน 4 ครั้งเพื่อทราบถึงการดำเนินการส่งเรื่องต่อองค์กรอิสระทั้งหมด ซึ่งกระบวนการของทางปปช.โดยประธานก็ได้มีการให้ข่าวถึงความคืบหน้าแล้ว โดยกระบวนการขององค์กรเหล่านี้เป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็จะต้องถูกตรวจสอบ
อย่างไรก็ตามนายจุรินทร์ชี้แจงว่า อคส.เป็นรัฐวิสาหกิจไม่ใช่ส่วนราชการที่รัฐมนตรีจะมีอำนาจไปสั่งการทางนโยบายได้ อคส.เป็นรัฐวิสาหกิจเดียวของกระทรวงพาณิชย์มีพระราชกิจฎีกาโดยเฉพาะเรียกว่าพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การคลังสินค้าพุทธศักราช 2498 นี่คือกฏหมายแม่บทที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของทุกฝ่ายไว้ชัดเจนใครไม่ปฏิบัติตามก็ผิดกฎหมาย รัฐมนตรีต้องปฏิบัติตามไม่สามารถทำนอกกฏหมายได้และพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การครั้งสินค้ากำหนดความสัมพันธ์สี่กลไกหลักไว้ดังนี้คือ 1.ผู้อำนวยการและพนักงาน 2.กรรมการหรือที่เรียกว่าบอร์ดของอคส. 3.รัฐมนตรี และ4.คณะรัฐมนตรี
โดยผู้อำนวยการหรือรักษาการผู้อำนวยการที่มีปัญหานั้นมีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 23 ที่ระบุว่าผู้อำนวยการมีอำนาจหน้าที่จัดการและดำเนินกิจการของอคส. ให้เป็นไปตามได้โยบายและข้อบังคับที่บอร์ดวางไว้ ไม่ใช่รัฐมนตรีวางไว้ สำหรับบอร์ดหรือกรรมการบริหาร มีหน้าที่ตามมาตรา 15-17-21 มาตรา 15 ระบุว่ามีองค์ประกอบ 11 คน คนมีอำนาจแต่งตั้งบอร์ดก็ไม่ใช่รัฐมนตรี แต่เป็นอำนาจคณะรัฐมนตรี มาตรา 17 ให้บอร์ดมีหน้าที่วางนโยบาย คนที่มีหน้าที่วางนโยบาย อคส.ไปปฏิบัติ คือ บอร์ด เท่านั้น ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของ อคส.และให้อำนาจบอร์ดเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี บอร์ดจึงมีอำนาจกำหนดนโยบายและมีอำนาจเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้อำนวยการในการแต่งตั้งถอดถอนโดยขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ส่วนคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่แต่งตั้งบอร์ดหรือถอดถอนบอร์ดออกจากตำแหน่งไม่ใช่รัฐมนตรี และมาตรา 20 คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กำหนดผลประโยชน์ตอบแทนของบอร์ดผู้อำนวยการและพนักงานทุกคน
” ซึ่งทันทีที่ผู้อำนวยการคนใหม่เข้าไปรับทราบความไม่ชอบมาพากลก็ได้รายงานให้ผมทราบและไม่ได้แปลว่าหลังจากนั้นผมจะไม่ทำอะไร ผมใช้อำนาจหน้าที่ที่ผมมีอยู่จำกัดดำเนินการร่วมกับผู้อำนวยการคนใหม่ในหลายประการ และได้ติดตามความคืบหน้าคลอดโดยผู้อำนวยการคนใหม่ได้รายงานมติคณะกรรมการกฎหมายให้มีมติเอกฉันท์เกี่ยวกับสัญญาโมฆะและรายงานความคืบหน้าเรื่องที่ส่งทั้งดีเอสไอ ป.ป.ช. ปปง.และผมก็ได้สั่งการให้ดำเนินการเพื่อรักษาประโยชน์ทางราชการอย่างเคร่งครัดในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ได้รายงานครั้งที่สามและ 1 ธันวาคม 2563 ก็แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับข้อพิรุธในสัญญาที่เหลือเมื่อพบแล้วก็ได้ทำรายงานต่อ ป.ป.ช.เพิ่มเติมเพื่อจะได้สะดวกในการเร่งรัดการไต่สวน ” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์ ระบุว่า รัฐมนตรีมีอำนาจจำกัด ตามพระราชกฤษฎีกา อคส.ฉบับใหม่ ปี 2535 เพราะพระราชกฤษฎีกาใหม่ที่แก้ไขปี 35 เอารัฐมนตรีออกจากการเป็นประธานบอร์ด เพราะเดิมนั้นรัฐมนตรีไปเป็นประธานบอร์ด แต่เอารัฐมนตรีออกจากประธานบอร์ดให้ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานบอร์ด โดยให้ผู้มีความรู้ความชำนาญทางธุรกิจมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ เพื่อแยกการบริหารกิจการของ อคส.ออกจากการเมืองนี่คือเหตุผลที่รัฐมนตรีเป็นแค่บุรุษไปรษณีย์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับบอร์ด และผู้อำนวยการและพนักงาน ไม่มีอำนาจบังคับบัญชา
รัฐมนตรีมีอำนาจจำกัดแค่ในมาตรา 13 -14 -35 โดยมาตรา 13 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไป ไม่ใช่สั่งปฏิบัติราชการเหมือนกรมที่ผมดูแล และเพื่อการนี้รัฐมนตรีมีอำนาจ 3 ข้อ 1.มีอำนาจเรียกบอร์ดผู้อำนวยการหรือบุคคลใดใน อคส. มาทำ 3 เรื่อง 1.ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง 2.ให้แสดงความคิดเห็น และ3.หรือให้ทำรายงานยื่น นี่คืออำนาจของรัฐมนตรี และรัฐมนตรีไม่มีอำนาจเหนือกฎหมาย มาตรา 14 เรื่องที่ต้องเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกานี้ให้บอร์ดเสนอผ่านรัฐมนตรีไปยัง ครม.เพื่อพิจารณาตัดสิน แปลว่า รัฐมนตรีคือบุรุษไปรษณีย์โดยให้รัฐมนตรีเป็นตัวผ่านนำเรื่องเข้าครม. มาตรา 35 นั้นให้บอร์ดทำรายงานเสนอรัฐมนตรีปีละ1ครั้ง และให้กล่าวถึงผลงานกล่าวถึงคำชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายของบอร์ด รัฐมนตรีไม่มีอำนาจให้นโยบาย บอร์ดเป็นผู้ให้นโยบายให้ชี้แจงรัฐมนตรีปีละหนึ่งครั้งว่าทำไมออกนโยบายและมีนโยบายอะไรบ้าง
“สรุปรัฐมนตรีมีอำนาจจำกัด แค่ให้บอร์ดชี้แจงแสดงความเห็นทำรายงานยื่นและเสมือนบุรุษไปรษณีย์ เพื่อให้ อคส.เป็นอิสระจากฝ่ายการเมืองในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการ บอร์ดมีนโยบายอย่างไรรัฐมนตรี จะไปสั่งให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงมิได้ บอร์ดเป็นผู้บังคับบัญชาผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการทำตามนโยบายบอร์ด รับผิดชอบต่อบอร์ดในฐานะผู้บังคับบัญชา คณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนบอร์ดและผู้อำนวยการ” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว
มีผู้อ่านข่าวนี้แล้ว 2112 ครั้ง